ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทย์จุฬา ตั้งคำถาม บริษัทเอกชนจะบริหารกองทุนข้าราชการโดยไม่ลิดรอนสิทธิ์เดิมได้อย่างไร หวั่นซ้ำเติมสถานการณ์สภาพคล่องโรงพยาบาลรัฐ กระทบผู้ป่วยทุกสิทธิ์ประกันสุขภาพ บริษัทประกันเอกชนอยู่ได้แต่โรงพยาบาลรัฐขาดทุน

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันเอกชนบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการข้าราชการว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพูดชัดเจนในหลักการที่จะไม่ลิดรอนสิทธิเดิมของข้าราชการ ซึ่งก็ต้องถามต่อว่าแนวทางที่เอกชนจะนำมาใช้ที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติคืออะไร จะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายอยู่ในกรอบ 7 หมื่นล้านบาทได้โดยข้าราชการไม่ถูกรอนสิทธิ์

“คือถ้าโจทย์นี้มันง่ายใครๆ ก็คงคิดกันไปหมดแล้ว เพราะความพยายามในการปฏิรูประบบสวัสดิการข้าราชการมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งผมก็เข้าใจผู้กำหนดนโยบายว่าหากปล่อยให้เป็นไปตามแนวเดิมก็ทำออกมาไม่ได้สักที ซึ่งจะให้เอกชนมาลองดูก็ได้ แต่แนวทางตรงนี้ต้องให้ชัดก่อน” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า ในทางทฤษฏีการบริหารจัดการประกันสุขภาพเพื่อดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายมีด้วยกัน 2 แนวทางใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ใช้มาตรการทางการเงินในการจำกัดค่าใช้จ่าย เช่น กำหนดราคาเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้สถานพยาบาลสามารถบริหารจัดการอยู่ในวงเงินได้ หรือการวางข้อกำหนดในการใช้บริการ เช่น ต้องไปที่สถานพยาบาลแห่งนี้เท่านั้น ต้องมีผู้ดูแลประจำ ต้องใช้ยาภายใต้รายการที่กำหนด การรักษาพยาบาลมีขั้นตอน 1-2-3-4 หากไม่ดำเนินการก็จะไม่จ่ายเงิน

“การออกแบบเช่นนี้โดยธรรมชาติแล้วก็จะมีความเสี่ยง เพราะว่าหลักการใหญ่บอกไว้ว่าจะไม่รอนสิทธิ์ข้าราชการ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากในการดำเนินการ” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

2.การดำเนินการโดยใช้มาตรการทางการเงินนั้น หากทำไปแล้วพบว่าสถานพยาบาลของรัฐขาดทุนจากการให้บริการระบบสวัสดิการข้าราชการ ก็จะเกิดความเสี่ยงสำคัญ 2 ประการ ประการแรก โรงพยาบาลของรัฐที่มีปัญหาความท้าทายทางการเงินจากระบบหลักประกันสุขภาพอื่นอยู่แล้ว ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกได้

ประการต่อมาก็คือ อาจเกิดข้อครหาได้ว่ากระทรวงการคลังเปิดช่องให้เอกชนมาบริหาร ที่สุดแล้วบริษัทประกันเอกชนอยู่ได้แต่โรงพยาบาลรัฐขาดทุน ทั้งที่เรื่องนี้ควรได้ประโยชน์แบบวิน-วิน ไม่ใช่คนหนึ่งลำบากอีกคนหนึ่งยิ้มออก

“ประเด็นสำคัญอยู่ที่หากโรงพยาบาลรัฐลำบากแล้ว ในช่วงแรกๆ อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทอดยาวไปสัก 1-2 ปี ก็จะเกิดผลกระทบต่อการดูแลและให้บริการแก่ข้าราชการและครอบครัว และในอนาคตก็จะกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิระบบอื่นที่ใช้หน่วยบริการของรัฐด้วย” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า ภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ฉะนั้นผู้กำหนดนโยบายจึงควรตอบคำถามให้ได้ว่าท่านจะทำกันอย่างไร มีข้อกำหนดอย่างไร แนวทางที่จะจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลรัฐเป็นอย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้โรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการดีและเหมาะสมได้รับผลกระทบไปด้วย