ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์จุฬาฯ ชำแหละหลักการ ‘บริษัทประกันเอกชน’ ไม่มองค่าใช้จ่ายระยะยาว ไม่มีไอเดียสร้างนำซ่อม หวั่นประหยัดเพื่อสร้างกำไร ขัดแย้งกับหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) เปิดเผยว่า ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีความพยายามจะส่งเสริมป้องกันโรคคือสร้างนำซ่อมเพื่อควบคุมงบประมาณในระยะยาว กลับพบว่าบริษัทประกันภัยเอกชนอาจจะไม่มีส่วนนี้ คือเขาจะมีมาตรการแรงจูงใจเพื่อลดค่าใช้จ่ายประจำปีเท่านั้น แต่ไม่มองในระยะยาว เพราะเขาก็ไม่แน่ใจว่าผู้ทำประกันจะซื้อประกันต่อในปีถัดไปหรือไม่

“ลักษณะการส่งเสริมป้องกันโรคจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับบริษัทประกันภัยเอกชน เพราะถ้าลงทุนทำแบบนี้ในปีนี้ ก็ไม่รู้ว่าในปีต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า บริษัทประกันสุขภาพเอกชนเป็นเอกชน ซึ่งโดยหลักการแล้วบริษัทก็ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นหากบริษัทรับเงื่อนไขเบี้ยประกันไป ซึ่งตามข่าวคือจะให้บริหารวงเงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่สุดแล้วหากบริหารออกมาแล้วเกินวงเงินนี้ก็ต้องขาดทุนไป หากบริหารได้ถูกว่านั้นส่วนที่เหลือก็จะเป็นกำไร

“ตรงนี้จะเป็นข้อแตกต่างกับการทำหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากการทำหลักประกันสุขภาพจะไม่แสวงหาผลกำไรจึงไม่ต้องห่วงกำไรในส่วนนี้ แต่ผมก็เข้าใจความปรารถนาดีของรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังที่คิดว่าด้วยวิธีการบริหารเช่นนี้ จะทำให้เอกชนพยายามหาช่องทางในการประหยัด ถ้าประหยัดได้มากพอก็จะชดเชยค่าบริหารจัดการและเป็นกำไรของเอกชนได้ ขณะที่รัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากการประหยัดงบประมาณได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นแค่หลักการ” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

สำหรับข้อกังวลว่าหากนำบริษัทประกันเอกชนมาบริหารกองทุนสวัสดิการข้าราชการจริงจะกระทบต่อสถานะทางการเงินหรือสภาพคล่องของหน่วยบริหารหรือไม่นั้น รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการกับวิธีการจ่ายเงินที่ประกันสุขภาพเอกชนจะเลือกมาใช้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อกำหนดเหล่านี้ให้เป็นหลักการที่ชัดเจนออกมา นั่นจึงเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข่าวที่ปรากฏจะพบหลักการเพียงว่า 1.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการที่จะไปดำเนินการ 2.จะให้วงเงินอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท 3.จะไม่รอนสิทธิ์ข้าราชการและครอบครัว ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักการใหญ่ แต่ไม่มีการพูดถึงวิธีการดำเนินการ

“จริงๆ แล้ววิธีการดำเนินการเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับเราจะให้คนไปออกแบบบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านไม่คุยกับสถาปนิกให้เคลียร์ ปล่อยให้สถาปนิกไปจินตนาการเอาเอง สุดท้ายพอเห็นแบบที่เสร็จแล้วเจ้าของบ้านอาจตกใจได้ หรือพอไปจ้างผู้รับเหมาให้สร้างแล้ว กลับพบว่าบ้านไม่เหมือนที่คิดไว้และยังมีโอกาสงบบานได้อีก” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าในเรื่องใหญ่ๆ ควรวางหลักการให้ชัดเจนว่าหลักใหญ่คืออะไร หลักในทางปฏิบัติคืออะไร ปัจจัยที่เราเชื่อว่าอาจจะมีผลกระทบกับอนาคตคืออะไร นั่นเพราะสวัสดิการข้าราชการเกี่ยวข้องกับคนกว่า 4.7 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จึงต้องการรายละเอียดในเชิงหลักการว่าองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องที่จะส่งผลกระทบต่อการรับบริการสุขภาพ การให้บริการสุขภาพเป็นอย่างไร

“พอเราได้หลักการแล้วก็วางเอาไว้ จากนั้นเอกชนที่สนใจก็ให้กลับไปออกแบบวิธีการทำงานให้ได้ตามหลักการนี้ ดังนั้นยิ่งมีหลักการน้อยก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ถ้าเรายอมรับเงื่อนไขเขาไปก่อนแล้วตามไปแก้ทีหลังคงเป็นเรื่องที่วุ่นวายมาก” รศ.นพ.จิรุตม์