ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้เพียงความเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ว่าด้วยโรคอะไรก็ตาม ย่อมเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ สถานที่ที่จะช่วยลดความทุกข์และเยียวยาความเจ็บป่วยก็คือโรงพยาบาลนั่นเอง แต่ในความเป็นจริงการไปโรงพยาบาลเพื่อรับบริการแต่ละครั้ง แทนที่จะช่วยลดความทุกข์ กลับพบว่าก่อให้เกิดความทุกข์เพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วย ยังรวมถึงญาติพี่น้องผู้พาไปอีกด้วย

ทุกข์ในที่นี้นอกจากจะเป็นทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังหมายถึงทุกข์ที่เกิดจากประสบการณ์การมาโรงพยาบาลที่ผู้รับบริการได้รับ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาล นอกจากไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการรับและให้บริการแล้ว ยังมีบรรยากาศแห่งความวุ่นวาย สับสน อึดอัด และกดดัน นำมาสู่ภาวะความเครียดของผู้รับบริการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้กลายเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ (ซ้ายสุด)

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย การออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healthcare Healing Environment Design: HHED) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโรงพยาบาล คงเป็นสถานที่ซึ่งไม่มีใครอยากไป เหตุผลนอกจากไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือไม่อยากให้คนรู้จักต้องป่วยไข้แล้ว บรรยากาศในโรงพยาบาลยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อใดที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ภาพที่เกิดขึ้นในใจมักจะเป็นภาพของความหดหู่ ความวุ่นวาย สับสน ความยุ่งยากในการรับบริการ การรอคิวนาน ผู้คนแออัด โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาล ล้วนแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น

จากการทำวิจัยโครงการ การออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healthcare Healing Environment Design-HHED) โกศล กล่าวว่า ทำให้มีโอกาสลงพื้นที่โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อสำรวจการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นทีมวิจัยในพื้นที่ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในงานวิจัย พบว่า แม้การจัดสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันภายใต้บริบทของพื้นที่ แต่เมื่อมองในภาพรวมกลับพบปัญหาคล้ายคลึงกันที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ อันจะนำมาสู่การซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ที่มาโรงพยาบาล

เริ่มตั้งแต่เข้าพื้นที่โรงพยาบาล จะพบปัญหาที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมืองซึ่งมีผู้ป่วยและญาติมารับบริการเป็นจำนวนมาก เช่นในกรณีของผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีผู้ร่วมเดินทางอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งจะทำหน้าที่ขับรถส่งผู้ป่วยและวนรถหาที่จอดรถ ส่วนคนที่สองจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยและเป็นผู้ประสานงาน คือ จัดการเรื่องเอกสาร ตรวจสอบสิทธิ์ ทำบัตร ยื่นบัตร เป็นต้น

จากปัญหาที่จอดรถ ตามมาด้วยปัญหาในส่วนพื้นที่พักคอย พบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่พื้นที่พักคอยจะค่อนข้างแออัด เก้าอี้นั่งรอไม่พอเพียงสำหรับผู้ป่วยและญาติที่ติดตาม จึงมีบางส่วนต้องยืนรอ ไม่ว่าจะเป็นแผนกผู้ป่วยนอกหรือแผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้บรรยากาศโดยรอบดูแออัดวุ่นวาย

นอกจากความแออัดของผู้คนในพื้นที่ให้บริการที่ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอแล้ว ปัญหาขั้นตอนการรับบริการ ที่ใช้ระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบัตร คัดกรองอาการ รอแพทย์ตรวจวินิจฉัย รอผลห้องปฏิบัติการ รอจ่ายเงิน และรอรับยา โดยทั่วไปขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 1 วัน ส่งผลทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเหนื่อยหน่าย ความกังวลจากการรอเรียกชื่อ และความเครียดที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ส่วนบรรยากาศภายในโรงพยาบาล พบว่า โรงพยาบาลหลายแห่งมีการจัดบรรยากาศแวดล้อมที่สร้างความตึงเครียดและหดหู่ อาทิ การเลือกสีทาอาคาร การเลือกสีเฟอร์นิเจอร์  การจัดแสงในพื้นที่บริการที่ดูสลัวๆ อึมครึม รวมถึงอากาศที่ไม่มีคุณภาพ การถ่ายเทอากาศภายในอาคารที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่ปลอดโปร่ง ก่อให้เกิดปัญหาความร้อน ความชื้น กลิ่น และเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ตัวอย่างเบื้องต้นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อจิตใจและร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โกศล กล่าวว่า นอกจากปัญหาต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีองค์ประกอบแวดล้อมในโรงพยาบาลที่ก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีก เช่น มีแหล่งกำเนิดเสียงเกิดขึ้นจำนวนมากในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง เสียงพูดคุยจากผู้คนรอบตัว เสียงโทรทัศน์ เสียงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เสียงเข็นเตียงผู้ป่วย เป็นต้น มีงานวิจัยในต่างประเทศทำการศึกษา พบว่า เสียงที่เกิดขึ้นในแผนกผู้ป่วยนอกมีแหล่งกำเนิดเสียงมากกว่า 30 เสียง ในขณะที่งานวิจัยบางเล่มระบุว่ามีถึง 50 เสียงด้วยซ้ำ แม้ว่าเสียงต่างๆ จะไม่ได้มีความหมายต่อการรักษามากนัก แต่มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเสียงเป็นภัยที่มองไม่เห็นต่อจิตใจ และมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเป็นอย่างมาก

 

ขณะที่ภาพที่ปรากฎทางสายตา (Visual Sense) ก็มีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้มารับบริการไม่น้อย จากการลงพื้นที่ทำการวิจัย พบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมีการติดป้ายต่างๆ ในพื้นที่เต็มไปหมด อาทิ ป้ายขั้นตอนการรับบริการ ป้ายข้อกำหนด ข้อห้าม ป้ายบอกทาง ป้ายบอกชื่อห้อง บ่อยครั้งที่พบว่าป้ายเหล่านี้มีความซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันเองทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังมีบอร์ดรณรงค์กิจกรรม บอร์ดสุขศึกษาต่างๆ พบว่า มีการใช้ข้อความที่มีตัวอักษรมากเกินไป สีของพื้นบอร์ดเป็นแม่สีที่ดูจัดจ้านไม่สบายตา หรือสีโทนดำที่ดูเศร้าโศกสลดใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่กระทบต่อการรับรู้ และส่งผลต่อสภาวะจิตใจของผู้รับบริการ

ปัญหาสภาพแวดล้อมที่ซ้ำเติมความทุกข์ของผู้มารับบริการไม่เพียงแต่พบในส่วนของพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น แม้กระทั่งหอผู้ป่วยก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ปกติการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหา ขาดความเป็นส่วนตัว มีเสียงรบกวนมากมาย เช่น เสียงการสนทนา เสียงจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเสียงกระทบของภาชนะต่างๆ เป็นต้น ล้วนส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนนอนหลับของผู้ป่วยทำให้นอนหลับไม่สนิท ทำให้เกิดความเครียดและส่งผลต่อการรักษา ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลนานขึ้น

ขณะที่การออกแบบภายในบางแห่งยังไม่เอื้อสำหรับผู้ป่วย เช่น อาคารและห้องพักฟื้นมีผนังทึบแสงมองไม่เห็นภายนอก ไม่มีแสงสว่างจากธรรมชาติ อากาศไม่ถ่ายเท จึงขาดบรรยากาศผ่อนคลาย หรือแม้แต่การไม่มีอุปกรณ์ช่วยพยุงตัวผู้ป่วย อย่างราวจับ ทางลาดเอียง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเยียวยาผู้ป่วยทั้งสิ้น

โกศล กล่าวต่อว่า สภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลไม่เพียงแต่กระทบกับผู้ป่วยและญาติ หรือผู้ที่มาเยี่ยมเยียนผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั้งหมด ที่ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นความทุกข์ซ้ำเติม เพราะนอกจากจำนวนบุคลากรจำกัดและต้องรับภาระงานหนัก การทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ ยังส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ผู้ให้บริการที่มีผลกระทบต่อการให้บริการได้ด้วย ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอยู่ในพื้นที่ประจำและต่อเนื่องเป็นเวลานาน

“ตัวอย่างพื้นที่ที่พบปัญหา เช่น การจัดพื้นที่หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งที่มีห้องพยาบาลอยู่ตรงกลาง และภายในห้องติดเครื่องปรับอากาศพร้อมติดพัดลมดูดอากาศไว้  โดยมีห้องผู้ป่วยรวมและมีเตียงนอนทั้งสองด้านของห้องพยาบาลซึ่งไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ เมื่อเวลาพยาบาลให้บริการผู้ป่วยในห้องผู้ป่วยก็จะใส่หน้ากากอนามัย แต่พอกลับเข้ามาในห้องพยาบาลก็มักจะถอดหน้ากากอนามัยออกทันที พร้อมทั้งสูดลมหายใจเข้า โดยเข้าใจว่าอากาศภายในห้องพยาบาลนี้สะอาดกว่าอากาศในห้องผู้ป่วยรวม ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะการเปิดพัดลมดูดอากาศจะดึงเอาอากาศผ่านทางรอยรั่วต่างๆ ของประตู หน้าต่าง รวมถึงจากการเปิด-ปิดประตูขณะเดินเข้า-ออกห้องพักผู้ป่วย ทำให้มีการดูดอากาศที่ปนเชื้อโรคต่างๆ ในห้องผู้ป่วยให้เข้ามาในส่วนห้องพักพยาบาล (Nurse Station) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและส่งผลต่อสุขภาพของผู้ให้บริการได้” หัวหน้าโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา กล่าว

โกศล กล่าวสรุปว่า ปัญหาสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความทุกข์ที่ไปซ้ำเติม ทั้งกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งต่างต้องทำใจยอมรับสภาพเมื่อจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลและกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่โรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

ดังนั้น ในต่างประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมของโรงพยาบาลรวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาอย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการดูแลผู้ป่วยและผู้มารับบริการแล้ว ยังเป็นการดูแลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ

สำหรับในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยตัวอย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นว่าแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเปรียบเสมือนห้องรับแขกของบ้าน จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดปรับปรุงสภาพแวดล้อมของแผนกผู้ป่วยนอกให้เป็นมีบรรยากาศเหมือนห้องรับแขก เน้นความสะอาด สะดวก สบาย และสวยงาม ทั้งยังต้องทำให้ผู้มารับบริการเข้าถึงบริการในทุกขั้นตอนได้อย่างสะดวก

ที่ผ่านมาแม้จะมีโรงพยาบาลหลายแห่งได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้มีการออกแบบอาคารและจัดภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วย สร้างความสะดวกให้กับผู้มารับบริการ รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล แต่เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมตามบริบทของตนเอง ยังไม่มีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งจำเป็นต้องปรับปรุงและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์ที่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิง รวมถึงมิติสุนทรียทางผัสสะ มิติจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดการดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวมที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย แต่ยังเป็นทางออกสำคัญเพื่อช่วยลดการซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ที่มาโรงพยาบาลรวมถึงผู้ให้บริการได้

ส่วน “สถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา” จะช่วยลดภาวะความเจ็บป่วยและการซ้ำเติมความทุกข์ได้อย่างไรนั้น ติดตาม 

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’