ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากปัญหาเด็กและวัยรุ่น เช่น การติดยา ติดเกม ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การตีกัน ตลอดจนความรุนแรงที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจในทุกวัย ตามที่ปรากฏในสังคม ในทาง “วิทยาศาสตร์” ทีมวิชาการจากศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ทางหนึ่งคือ การทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร หรือ Executive Functions (EF) เพื่ออุดช่องว่างของปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ

รศ.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล นักวิจัย ศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล กล่าวว่า การคิดเชิงบริหาร (EF) คือ การทำหน้าที่ระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำได้ เช่น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนทำไม่หุนหันพลันแล่น ซึ่ง EF มีความสัมพันธ์กับชีวิตการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม โดยเป็นทักษะที่เหมาะกับการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะวัย 2-6 ขวบ หากขาดการพัฒนาส่งเสริม จะส่งผลให้เด็กจะขาดการยับยั้งตนเอง ขาดการควบคุมอารมณ์ การคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดยาก ขาดการใส่ใจจดจ่อและความจำขณะทำงาน ทำให้มีปัญหาในการทำงานให้เสร็จลุล่วง รวมถึงขาดความพร้อมทางการเรียนและอาจจะล้มเหลวในการเรียนได้ เหล่านี้ยังกระทบไปถึงปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสังคมต่างๆ ที่อาจตามมา

ดังนั้น เราควรมีเครื่องมือที่สามารถคัดกรอง ค้นหาและทราบได้ว่าเด็กมีความบกพร่องในเรื่องพัฒนาการด้าน EF หรือไม่อย่างไร

“ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการประเมินการคิดเชิงบริหาร (EF) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศได้มีการใช้อย่างแพร่หลายและผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว โดยเครื่องมือที่มีชื่อว่า Behavioral Rating Inventory of Executive Functions หรือ BRIEF-P ถูกนำมาใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อประเมินพฤติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องของ EF ในเด็กอายุ 2-6 ขวบ ตามค่ามาตรฐานของกลุ่มเด็กอเมริกัน โดย BRIEF-P ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแปรผล มีความซับซ้อน หากเราจะใช้เครื่องมือประเมินนี้จะต้องซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ”

รศ.นวลจันทร์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับทาง ม.มหิดล พัฒนาแบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียนขึ้น ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาและหาค่าเกณฑ์มาตรฐานเครื่องมือประเมินการคิดขั้นสูงในเด็กปฐมวัย

สำหรับแบบประเมินพัฒนาการด้าน EF ฉบับภาษาไทย ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมา มี 2 ชุด คือ

1.แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101)

2.แบบประเมินพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-102)

ใช้สำหรับประเมินในเด็กอายุ 2-6 ขวบ มีคำถามทั้งหมด 32 ข้อ สำหรับให้ครูผู้ดูแลเด็ก/ครูอนุบาล ใช้ประเมินพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียนที่รู้จักและคุ้นเคย แบ่งเป็น ตัวบ่งชี้ถึงพัฒนาการด้านการยับยั้งพฤติกรรม การเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นทางความคิด การควบคุมอารมณ์ ความจำขณะทำงาน และการวางแผนจัดการ

ทั้งนี้ แบบประเมินดังกล่าว ทางครูผู้ดูแลเด็กหรือครูอนุบาล จะนำใช้ไปสังเกตเด็กในชั้นเรียนตามหัวข้อ ว่ามีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร เป็นไปตามวัยหรือไม่ หรือมีปัญหาพฤติกรรมด้านใดที่พบว่าบกพร่อง โดยครูผู้ประเมินจะต้องสอนหรือดูแลเด็กที่ถูกประเมินมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้นนี้ สวรส. และ ม.มหิดล ได้มีการจัดอบรมการใช้แบบประเมินการพัฒนาด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ให้กับครูปฐมวัยและผู้ดูแลเด็ก ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 200 คน เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักการประเมิน และนำไปใช้ติดตามพัฒนาการของเด็กในพื้นที่ต่อไป โดยกระบวนการดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่าย หาประสบการณ์ในการใช้และพัฒนาเครื่องมือ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ระหว่างครูผู้ใช้กับทีมวิจัย

“สิ่งที่ต้องเติมเต็มคือ เมื่อมีเครื่องมือแล้วจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างกำลังคนให้พร้อมในการใช้เครื่องมือ เสมือนเรามีโปรแกรมในคอมพิวเตอร์แล้วแต่ยังใช้ไม่เป็น ก็ต้องใส่องค์ความรู้ความเข้าใจให้กับครูกลุ่มเป้าหมาย ไม่เพียงแค่ทำการประเมินแต่จะต้องมีกระบวนการที่เพิ่มสมรรถนะครูในการออกแบบกิจกรรม ไปเสริมจุดบกพร่องพฤติกรรมของเด็กได้ด้วย และเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของครูกับรูปแบบการสอนเดิมๆ ตัวอย่างเช่น เดิมเราเห็นแต่ครูอยู่หน้าชั้นเรียนเขียนกระดานดำ แต่หากมีกระบวนการไปปรับให้ครูได้รู้จักแสดงบทบาทสมมุติ หรือมีกิจกรรมแสดงละครประกอบการสอน เล่าเรื่องใหม่ๆให้เด็กสนใจ ก็อาจเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจของเด็กได้ง่ายขึ้น และอีกกลุ่มสำคัญที่ลืมไปไม่ได้เลย คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องรู้จักและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วย โดย สวรส. จะหาทีมวิจัยมาช่วยกันพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการต่อไป” พญ.วัชรา กล่าว