ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขพัฒนา รพ.สต.สร่างโศกเป็น PPC หรือ คลินิกหมอครอบครัว แห่งแรกของจังหวัดสมุทรปราการ ชี้เป็นแบบอย่าง รพ.สต.ประชารัฐที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและสนับสนุนเงินก่อสร้าง และร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสร่างโศก (รพ.สต.สร่างโศก) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสร่างโศก (หลังใหม่) ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข เพื่อมุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน การพัฒนาอันดับต้นๆ คือการยกระดับคุณภาพบริการด้านการแพทย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีระบบบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ครอบคลุม  ตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด การเพิ่มบริการด้านการรักษาพยาบาลไปยังบริการปฐมภูมิโดยให้ รพ.สต.รวมกันเป็นเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ (PCC หรือ Primary Care Cluster) เพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ อาทิ หมออนามัย พยาบาล ทันตาภิบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

เน้นการออกทำงานเชิงรุก โดยทีมหมอครอบครัว ร่วมกับ อสม. ให้การดูแล ให้คำปรึกษา แก่ประชาชนถึงบ้าน เป็นการดูแลประชาชนแบบใกล้บ้านใกล้ใจ เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการทำงานกับท้องถิ่น ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ  มุ่งสู่ประชาชนมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่าสำหรับ รพ.สต.สร่างโศก (หลังใหม่) ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 8,050,000 บาท จากกระทรวงสาธารณสุขและเงินบริจาคสมทบจากประชาชนตำบลคลองด่าน และกรรมการบริหาร รพ.สต.สร่างโศก ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างโรงพยาบาลประชารัฐ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและร่วมบริหารจัดการ อาคารเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยชั้น 1 เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ชั้น 2 เป็นห้องทันตกรรม แพทย์แผนไทย และห้องประชุม ชั้นที่ 3 เป็นห้องพักเจ้าหน้าที่     

มีบุคลากรด้านสาธารณสุขจำนวน 8 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รพ.สต. นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุข 1 คน พนักงานราชการ 1 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 2 คน และมีแพทย์ เภสัชกร หมุนเวียนมาให้บริการ สัปดาห์ละ 1 วัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 50 คน อาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) 15 คน ดูแลประชากรประมาณ 40,000 คน โดยผู้มารับบริการส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกร