ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.จัดสิทธิประโยชน์บัตรทองปี 60 ดูแลหญิงตั้งครรภ์ฟรีต่อเนื่อง ทั้งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แนะฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งท้อง พร้อมรับการดูแลครรภ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ครั้ง ช่วยทารกคลอดปลอดภัย สุขภาพแม่แข็งแรง เป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

นพ.ชูชัย ศรชำนิ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อครอบคลุมดูแลประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์เพื่อให้ทารกที่เกิดมาเป็นประชากรสมบูรณ์และมีคุณภาพ โดยได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง กำหนดสิทธิการรับบริการฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 9-10 เดือน เพื่อให้สามารถฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่มีเวลาเพียงพอในการดูแลสุขภาพหญิงครรภ์และทารกในครรภ์ คลอดทารกอย่างปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรง

นพ.ชูชัย กล่าวว่า เมื่อเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่ครั้งแรก ภายใต้สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีการติดตามสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึงภายหลังคลอด โดยการฝากครรภ์ครั้งแรก ควรมาฝากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จะได้รับบริการตรวจร่างกายและการตรวจครรภ์ ทั้งการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจภายใน วัดความสูงยอดมดลูก โดยทั่วไปร้อยละ 75 ของหญิงตั้งครรภ์สามารถให้การดูแลตามปกติ พร้อมกันนี้ยังจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาทิ การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจเลือด ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง การคัดกรองโรค เช่น โรคซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามี

นอกจากนี้ยังตรวจคัดกรองทางด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า และคัดกรองการสูบบุหรี่/การดื่มสุรา/การใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงการให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยักเข็มที่ 1 อีกด้วย หากผลตรวจพบว่าผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลรักษาหรือป้องกัน

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ส่วนการฝากครรภ์ครั้งที่ 2 เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 13 - 18 สัปดาห์ หรือเพื่อติดตามและดูการดิ้นของทารกในครรภ์ โดยจะมีการตรวจร่างกายและตรวจครรภ์ การวัดความสูงของมดลูก ตรวจอายุของทารกในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ เพื่อตรวจสุขภาพเด็ก จำนวนเด็กที่อยู่ในครรภ์ และกำหนดการคลอดได้อย่างถูกต้อง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากการฝากครรภ์ครั้งแรก การฉีดวัคซีนกันบาดทะยักเข็มที่ 2 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์

การฝากครรภ์ครั้งที่ 3 เป็นการดูแลต่อเนื่องในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 19 - 26 สัปดาห์ โดยจะมีการตรวจร่างกาย การตรวจครรภ์โดยวัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง

การฝากครรภ์ครั้งที่ 4 เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 27 - 32 สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจร่างกาย ตรวจวัดความสูงของมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกรวมถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ ในครรภ์ การตรวจคัดกรองโรคทั้งซิฟิลิสและเอดส์อีกครั้ง พร้อมแนะนำอาการเจ็บครรภ์

ขณะที่การฝากครรภ์ครั้งที่ 5 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 33-38 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์ยังคงได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก นอกจากการติดตามโดยการตรวจครรภ์ วัดความสูงมดลูก และการดิ้นของลูกแล้ว ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจท่าเด็กและส่วนนำ การให้คำแนะนำอาการเจ็บครรภ์หรือมีน้ำเดิน นัดฝากครรภ์ครั้งต่อไปหรือนัดคลอด

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ส่วนสิทธิประโยชน์ที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลทุกครั้งในการฝากครรภ์ คือการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และคลอด การตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ ตลอดการตั้งครรภ์ถึงหลังคลอด จะได้รับยากรดโฟลิค ยาเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีน และแคลเซียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของทารก การป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกเกิด

“ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชากร โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และทารกอย่างมาก โดยระบุไว้ชัดเจนในยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ ในปี 2560 นี้ สปสช.ยังได้จัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 2,600 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมาย 7.4 แสนคน ภายใต้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบ่งเป็นการดูแลแม่ขณะตั้งครรภ์ 5 ครั้ง โดยฝากครรรภ์ครั้งที่ 1 จำนวน 1,200 บาทต่อคน เน้นการตรวจคัดกรอง เช่น ธาลัสซีเมีย เอดส์ ซิฟิลิส เป็นต้น ฝากครรภ์ครั้งที่ 2-4 จำนวน 400 บาทต่อครั้งต่อคน ตลอดจนถึงการดูแลหลังคลอด” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้การฝากครรภ์เป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการฝากครรภ์ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งโดยไม่เสียค่าบริการ หากมีข้อติดขัดหรือสงสัยในการรับบริการ ติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง