ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกทันตแพทยสภาคาดอีก 1-2 วัน ภาคีสภาวิชาชีพสาธารณสุขยื่นหนังสือถึง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี-รมว.สาธารณสุข จี้ออกกฎยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลเหมือนเดิม ย้ำกระทบทุกวิชาชีพ โรงพยาบาลขนาดเล็กและโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลลำบากแน่

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาคีสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด มีมติร่วมกันเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างข้อคิดเห็นส่งให้นายกของแต่ละสภาวิชาชีพพิจารณาเนื้อหาก่อน และคาดว่าใน 1-2 วันนี้ น่าจะสามารถนำข้อเสนอยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้

ทพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2559 จะกระทบกับวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ ไม่เฉพาะแค่ทันตแพทย์ เพราะตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่ครอบครองเครื่องเอ็กซเรย์ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ซึ่งตัวเจ้าหน้าที่ RSO ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับ ปส.ด้วย ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนเครื่องเอ็กซเรย์โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ RSO โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

“ปัญหาในการบังคับใช้ก็คือทุกโรงพยาบาลล้วนมีเครื่องเอ็กซเรย์ทั้งสิ้น แล้วโรงพยาบาลเล็กๆ โรงพยาบาลประจำอำเภอในพื้นที่ห่างไกล จะหาเจ้าหน้าที่ RSO มาจากไหน ถ้าไม่มี RSO ก็ผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำการเอ็กซเรย์ได้ แบบนี้ผมว่าไม่ถูก แล้วโทษแบบนี้ ถ้าสำหรับพวกพลังงานนิวเคลียร์มันโอเคเพราะความเสียหายมันรุนแรง แต่คุณเอาเครื่องเอ็กซเรย์เครื่องเล็กๆ ไปผูกกับโทษรุนแรงแบบนี้ พวกบุคลากรทางการแพทย์ก็ตกใจ” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ในมาตรา 8 วงเล็บ 5 ของ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2559 เปิดช่องไว้ว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถออกข้อยกเว้นได้ ดังนั้นจึงอยากให้อาศัยมาตรานี้ ออกประกาศยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ และควรให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้กำกับดูแลแทน

“เราเข้าใจว่ากฎหมายนี้ต้องการดูแลความปลอดภัยของประชาชน แต่กติกาสากลเขายกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์หมด ไม่เอามารวมอยู่ในกฎหมายแบบนี้ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ดูแลเรื่องความปลอดภัยได้ดีอยู่แล้ว ก็อยากให้ยกเรื่องนี้ออกไปให้กรมวิทย์ฯ ดูแล ซึ่งก็ไม่ขัดกับกติกาสากลด้วย” ทพ.ไพศาล กล่าว