ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการแรงงานชี้ ลูกจ้างชั่วคราวรายวันในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานปกติของกฎหมายคุ้มครองแรงงานเนื่องจากอยู่นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร ส่วนการได้รับคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคม กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่เปิดช่องเข้าระบบแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา

นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงปัญหาของลูกจ้างชั่วคราวรายวันในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า จากที่เคยศึกษากลุ่มลูกจ้างรายวันในโรงพยาบาลสังกัด สธ. เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานปกติของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสถานพยาบาลที่จะเอาเงินบำรุงต่างๆ มาจ่ายเป็นค่าแรงให้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารแต่ละสถานพยาบาลไป หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ อยู่ในเมือง ผู้บริหารมีความเห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะได้ค่าจ้างมาก

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ทางกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายวันเริ่มมีการรวมกลุ่มและมีตัวแทนต่อรองกับผู้บริหารสถานพยาบาล จึงไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การจ้างงานดีขึ้นแล้วหรือไม่ หากสถานการณ์ยังเป็นแบบเดิม ก็คงต้องมีการเรียกร้องให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายปกติ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะว่ามีการตอบสนองอย่างไร

ขณะเดียวกัน ในส่วนของความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่เดิมมีเพียงกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนที่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ แต่กฎหมายประกันสังคม (ฉบับที่ 4) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2558 ได้ขยายความคุ้มครองมาถึงลูกจ้างรายวันด้วย จึงทำให้ลูกจ้างรายวันสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วยังมีปัญหาเรื่องความพร้อมในการแจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพราะหน้าที่แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นหน้าที่ของนายจ้าง นายจ้างต้องแจ้งรายชื่อและจำนวนค่าจ้างให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อหักเงินสมทบ แต่เนื่องจากหน่วยงานรัฐจะต้องเตรียมงบประมาณล่วงหน้าเป็นรายปีและกฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วงรอยต่องบประมาณ จึงไม่ทราบว่าทุกวันนี้มีลูกจ้างชั่วคราวรายวันได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมากน้อยเท่าใด 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

โวยลูกจ้าง สธ.สิทธิต่ำกว่าแรงงานข้ามชาติ ค่าแรงไม่ถึงขั้นต่ำ