ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการชำแหละอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย ชี้ 6 บริษัทส่วนแบ่งการตลาดรวม 2.5 หมื่นล้านบาท กำไรเฉลี่ยต่อปีทะลุแห่งละ 1,000 ล้าน ระบุกลยุทธ์การตลาดหลากหลาย ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของแม่ ย้ำบุคลากรทางการแพทย์สร้างความน่าเชื่อถือให้นมผงมากที่สุด

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 มีการจัดเวทีให้ข้อมูลสาธารณะหัวข้อ“สิทธิแม่ลูก VS นมผงหมื่นล้าน : ได้เวลาผ่านกฎหมายคุมการตลาดนมผง?” ซึ่งอยู่ภายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายบวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เปิดเผยว่า ตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำแนะนำว่า ควรให้นมแม่ล้วนอย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นควรให้นมแม่ควบคู่กับให้อาหารตามวัย ไปจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่านั้น แต่จนถึงขณะนี้ประเทศไทยกลับยังไม่สามารถดำเนินการได้ และเป็นเวลาร่วม 30 ปี ที่ประเทศไทยไม่เคยมีข้อบังคับเรื่องการควบคุมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

“เรามีเพียงข้อตกลง ซึ่งไม่มีอำนาจบังคับ และไม่มีการกำหนดบทลงโทษ” นายบวรสรรค์ กล่าว

นายบวรสรรค์ กล่าวถึงกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอุตสาหกรรมนมผงว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนมผงทั้งสิ้น 6 บริษัท ในจำนวนนี้มี 2 บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวม 58% ขณะที่อีก 4 บริษัทมีส่วนแบ่งรวม 42% โดยมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาผลกำไรจะพบว่าแต่ละบริษัทมีผลกำไรเฉลี่ยกว่าปีละ1,000 ล้านบาท

นายบวรสรรค์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่ามีการละเมิดข้อกำหนดในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาผ่านทางรถขนส่งมวลชน สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งที่ข้อกำหนดห้ามมิให้มีการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

นอกจากนี้ ทุกวันนี้บริษัทนมผงมีกลยุทธ์การสื่อสารหลากหลาย ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันระหว่างสูตรนมที่ไม่อนุญาตให้โฆษณากับสูตรที่อนุญาตให้โฆษณาได้ คือทำบรรจุภัณฑ์นมเด็กทารกให้คล้ายกับเด็กโต แล้วเลือกโฆษณานมเด็กโตแทน รวมถึงการใช้ภาพทารกโฆษณาและยังมีการลดแลกแจกแถม จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในหัวเมืองใหญ่ทุกภาคทั่วประเทศ

“เรายังพบว่าบริษัทนมยังติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง มีความพยายามสร้างความประทับใจเพื่อให้เกิดการซื้อสินค้าซ้ำ ที่สำคัญก็คือเนื้อหาของโฆษณาจะพูดอยู่ประเด็นเดียวคือสารอาหาร เมื่อสารอาหารเหล่านี้ถูกโฆษณาย้ำไปย้ำมาหลายๆ ปีก็จะทำให้คนในสังคมเข้าใจว่านมผงมีประโยชน์เท่ากับนมแม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ฯ ทั้งสิ้น” นายบวรสรรค์ กล่าว

นายบวรสรรค์ กล่าวอีกว่า บริษัทนมผงยังเลือกใช้การสื่อสารการตลาดเชิงรุกผ่านทางออนไลน์ โดยเป็นการสื่อสารตรงกับหญิงตั้งครรภ์ เช่น จัดทำแฟนเพจ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าเฉลี่ยแต่ละ 1 วันจะมีการโพสต์ 3 ข้อความเป็นอย่างน้อย หรือ 30 โพสต์ต่อเดือนต่อแบรนด์ นั่นหมายความว่าหากรวม 7 บริษัท จะเป็น 210 โพสต์ต่อเดือนเป็นอย่างน้อย โดยเนื้อหาที่โพสต์ก็คือโปรโมชั่น โภชนาการ คุณค่าสารอาหารเพิ่มเติม เชิญชวนร่วมกิจกรรม เคล็ดลับการดูแลสุขภาพแม่ ความรู้วิธีการดูแลลูก จากนั้นจะค่อยๆ ใส่ข้อมูลการดูแลด้วยนมผงเข้าไป มากไปกว่านั้นยังพบว่าบางบริษัทมีแอพพลิเคชั่นให้แม่สามารถปรึกษาการเลี้ยงลูกได้โดยตรง

นายบวรสรรค์ กล่าวอีกว่า มีผลการวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่าการโฆษณาที่ได้ผลมากที่สุดคือการโฆษณาผ่านสื่อบุคคล ได้แก่ พนักงานขายตามจุด แต่ที่มีความเชื่อถือที่สุดคือบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแม่ โดยขณะนี้บริษัทนมได้เปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง มาเป็นผู้ให้ข้อมูลนมผงแล้ว

“การโฆษณามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างชัดเจน โดยจากการวิจัยพบว่า 43.9% ของกลุ่มตัวอย่าง ตัดสินใจเลือกนมผงเพราะแพทย์และพยาบาลให้นมผงแก่ลูกทันทีหลังคลอดที่โรงพยาบาล และมีการแจกนมผงตัวอย่างจึงใช้นมผงยี่ห้อดังกล่าวเลี้ยงนมลูกมาอย่างต่อเนื่อง และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจำเป็นต้องมีการควบคุมการตลาดนมผงให้ถึงสูตร3 และสูตร 4 ด้วย” นายบวรสรรค์ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 ได้แสดงความกังวลถึงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ของประเทศไทยที่ต่ำลงจนอยู่ในลำดับที่ 105 จาก 109 และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 แต่กลับไม่มีอำนาจบังคับใช้และไม่มีบทลงโทษหากฝ่าฝืน ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่ายังไม่เพียงพอในการควบคุมกลยุทธ์ด้านการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก  

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 จึงมีมติเห็นชอบการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และมีมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ดังกล่าว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่ มอบหมายให้ สธ.ดำเนินการควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พร้อมกันนี้ให้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ให้สำเร็จภายในปี 2555 ซึ่งภายในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขยายสิทธิการลาคลอด และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการลาคลอดให้เป็น 180 วัน โดยให้ได้รับค่าจ้างระหว่างการลา และให้จัดสวัสดิการให้มารดาสามารถให้นมบุตรได้ในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 ครม.มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 และเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2558 ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... ตามที่ สธ.เสนอ โดยปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)อ