ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เสนอทางออก แก้ปัญหางบรักษาสุขภาพ ขรก.โป่ง ชี้รัฐต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพประชาชน และควบคุมโรค เปลี่ยนแนวคิดการวัดผลเป็นระยะยาว มากกว่ายึดระยะสั้น แนะกรมบัญชีกลางดึงคนมีความสามารถจากหน่วยงานอื่น มาร่วมออกแบบพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มากกว่านี้ ยึดปรัชญาตั้งต้นว่า ข้าราชการและครอบครัว คือ คนของรัฐ รัฐควรให้ความสำคัญ อย่าผลักให้คนอื่นดูแลแบบไปเสี่ยงดวง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงปัญหาค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่จะเป็นภาระต่อรัฐมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับสัจธรรมว่า ค่าใช้จ่ายประเภทนี้จะมีแนวโน้มที่จะโป่งขึ้น ไม่มีทางลดลงตามที่รัฐต้องการควบคุม 

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า วิธีการเดียวที่จะแก้ คือ ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพของประชาชนที่เสื่อมถอยมากขึ้น โดยรัฐต้องแบ่งการลงทุนของชาติไปที่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรคให้เข้มแข็ง ไม่ควรให้งบประมาณกับเรื่องนี้น้อย หรือไปกอบโกยเงินจากธุรกิจการแพทย์ไว้ก่อนด้วยการเปิด เมดิคัลฮับ และจะเห็นว่า มีโรคระบาดที่ตามมาจากเมดิคัลฮับ เช่น เมอร์ส แม้จะเพียงรายเดียว แต่รัฐต้องจ่ายเงินเพื่อควบคุมโรคนี้กว่าร้อยล้านบาทต่อครั้ง 

"ทางเดียวที่ทำได้ คือ ต้องชะลอไม่ให้สุขภาพของคนแย่ลงจนรวดเร็วเกินไป ด้วยการลงทุนด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรคให้กิจกรรมนี้มีมากขึ้น เข้มแข็งและเข้มข้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทยทั้งกลุ่มที่เสี่ยงและยังไมได้เสี่ยงก็ตาม" ผศ.นพ.ธีระ กล่าว 

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐไม่สนับสนุนการลงทุนด้านป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพประชาชนเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังใช้ระบบวัดความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมมาจับ ซึ่งบางครั้งการวัดความคุ้มค่า ไม่สามารถวัดได้ในระยะสั้น แต่ต้องวัดระยะยาว เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่เพื่อหวังลดปัญหามะเร็งปอด เราไม่สามารถวัดได้ในช่วง 1 ปีหรือ 5 ปี เพราะการสูบบุหรี่เป็นพิษสะสมมานาน อาจต้องใช้เวลาวัดผลนานถึง 10 ปี หรือ 20 ปี ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมไม่สามารถวัดผลในเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา จำเป็นที่จะมองว่า การลงทุนด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรคจำเป็นต้องทำและวัดผลระยะยาว

ทางออกอีกเรื่อง คือ ต้องลงทุนให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรค ที่สำคัญต้องจัดการปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพเช่นกัน ไม่ว่า นโยบายควบคุมบุหรี่ เหล้า หรืออุบัติเหตุ ที่ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น 

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า วิธีแก้ที่ถูกที่คันมากที่สุด คือ จัดการปัญหาทุจริตจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมีการระบุว่า ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่โป่งขึ้น เนื่องจากบางคนทำไม่ดี มีการช็อปปิ้งไปตรวจซ้ำเพื่อเบิกยาและเอาไปขาย ข่าวแบบนี้พบเห็นมากขึ้น แต่ปรากฎว่า ไม่เคยมีคนนำตัวเลขมาแสดงให้ดูว่า มีมากน้อยแค่ไหน หรือ เกี่ยวข้องกับใคร อย่างไรก็ตามส่วนตัวเชื่อว่า มีส่วนน้อย แต่กลายเป็นว่า ปลาเน่าตัวเดียวเน่าเหม็นทั้งข้อง มันไม่ยุติธรรมต่อคนโดยรวมเพื่ออ้างเหตุเปลี่ยนให้บริษัทประกันมาดูแลค่ารักษาพยาบาลแทน ฉะนั้น ใครทำไม่ดีต้องลงโทษ เช่น อาจมีการตัดสิทธิ์ ไม่ให้เขาเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก 

นอกจากนี้จำเป็นที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา กล่าวคือ กรมบัญชีกลางซึ่งดูแลงบประมาณการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการต้องประเมินตนเองก่อนว่า มีความสามารถ มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการเรื่องกองทุนสุขภาพหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ก็ต้องหาตัวช่วย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ มีคนเก่งอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ ปัญหาที่ผ่านมาคือไม่สามารถรวมดาวกระจายเหล่านั้นให้มาร่วมด้วยช่วยกันทำงานใหญ่ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพได้ วันนี้ถึงเวลาแล้ว เมื่อเรารู้ว่า ค่าใช่จ่ายมันสูง ระบบบริหารไม่ใช่แค่กระทบกับข้าราชการและครอบครัว แต่กระทบกับการบริการสุขภาพทั้งประเทศ

ฉะนั้น กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางต้องดูว่า หน่วยงานไหนมีใครบ้างที่มีความสามารถก็ต้องช่วยกันทำ อย่าทำเอง ตัดสินใจเอง เพราะจะถูกประณามแน่ๆ โดยควรยึดถือปรัชญาตั้งต้นว่า ข้าราชการและครอบครัวเขา ก็คือ คนของรัฐ รัฐก็ควรดูแลเขา อย่าผลักเขาให้คนอื่นดูแลแบบไปเสี่ยงดวง

อาจารย์ประจำคณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์ผู้นี้ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศมีปัญหาเรื่องระบบการเงิน การคลัง เพื่อจัดการดูแลสุขภาพประชาชน เพราะไม่ใช่แค่กองทุนข้าราชการอย่างเดียว ยังมีบัตรทอง และ ประกันสังคม จึงจำเป็นที่ผู้รับผิดชอบกองทุนเหล่านี้ ต้องไม่ดำรงตนแบบเดิมๆ เหมือนคนที่คอยซื้อบริการเพียงอย่างเดียว หรือคิดว่า “ข้าใหญ่” เพราะถืองบ และสั่งการให้หน่วยงานอื่นไปออกแบบแก้ปัญหามา "เพราะฉันเป็นคนจ่ายเงิน ฉันจะตั้งกฎนั้นกฎนี้" วันนี้ต้องทบทวนแนวคิดดังกล่าว แล้วมาร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้วยกัน 

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางควรมารับรู้ปัญหาว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดหรือข้อดีแค่ไหน เพราะเงินนั้นไม่ได้เป็นเงินที่ซื้อบริการอย่างเดียว ระบบบริการสุขภาพที่ดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ มันเป็นระบบภาครัฐ ดังนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ และขันน็อตระบบบริการในทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างโดยเฉพาะระดับบริการปฐมภูมิที่ดูแลผู้ป่วยเล็กน้อย ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น คลินิก ร้านขายยา เนื่องจากพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนมีการศึกษามากขึ้น และเริ่มตื่นรู้ เวลาเจ็บป่วย เขาไม่ได้ตรงไปที่โรงพยาบาลทันที แต่จะไปหาที่ที่เขาไปถึงได้ง่ายก่อน เช่น คลินิก ร้านขายยา ศูนย์อนามัย ดังนั้น ต้องทำให้สถานที่เหล่านั้นมีมาตรฐาน และเกิดความเชื่อถือ ทันสมัย บริการดี สะอาด ซี่งตรงนี้คนถือเงินแต่ละกองทุนจำเป็นต้องมาร่วมด้วยช่วยกันลงทุนสร้างความเข้มแข็ง ไม่ใช่พึ่งแต่กระทรวงสาธารณสุข เพราะงบมีจำกัดมาก