ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก.ยาสูบแห่งชาติทบทวนแนวทางควบคุมการบริโภคยาสูบ เดินหน้ายุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 เน้นบูรณาทำงานร่วมกับ ก.ศึกษาธิการและ ก.พัฒนาสังคมฯ สร้างความตระหนักโทษพิษภัยบุหรี่ตั้งแต่ปฐมวัย 0-5 ปี 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ให้ข้อสังเกตในแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติฉบับที่ 2 ที่พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ในไทยยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น จำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การทำงาน โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ บูรณาการทำงานพุ่งเป้าไปในกลุ่มเด็กปฐมวัยอายุ 0-5 ปี เพื่อสร้างคนไทยใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในเรื่องการสูบบุหรี่เช่นกัน ก็ต้องได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ ตั้งแต่ปฐมวัยและวัยประถมศึกษาจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่

ทั้งนี้ ข้อมูลผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ13-15 ปี พ.ศ.2558 ของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค พบเยาวชนใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบมีควัน ร้อยละ 14 เป็นเยาวชนชายร้อยละ 20.7 เยาวชนหญิงร้อยละ 7.1 พบใช้ผลิตภัณฑ์แบบไม่มีควัน เช่น นำยาเส้นมาเคี้ยวแทนการสูบ อีกร้อยละ 2.7 ได้ให้คณะกรรมการฯ ประสานให้ข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเฝ้าระวังและดำเนินการร่วมกันต่อไป

ในส่วนความก้าวหน้าของโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ได้ให้ข้อสังเกตว่า เป็นโครงการที่สำคัญเป็นการบูรณาการการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ขณะนี้ มีหลายภาคส่วนกำลังช่วยกันทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้แผนการทำงานมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน และประสบความสำเร็จ ขอให้สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค และ สสส.ประสานรวบรวมข้อมูลแนวทางและผลการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ให้ได้ข้อมูลครบถ้วนนำมาปรับแผนการดำเนินงานในระดับนโยบาย ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการทำงาน ถ้าทำสำเร็จจะเป็นตัวอย่างในระดับโลกต่อไป

โดยภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ใน  6 ประเด็น ชวนร่วมทำดีเพื่อพ่อ พร้อมเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อาทิ ตั้งคณะทำงานโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ติดตามความคืบหน้าทุกไตรมาสหรือในระยะเวลาที่เหมาะสม กำหนดให้โครงการฯ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ โครงการจังหวัดควบคุมยาสูบ การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่เขตสุขภาพ จังหวัด ชมรม รพ.สต. ที่ดำเนินโครงการฯ ดีเด่น เชิดชูเกียรติองค์กรต้นแบบและบุคคลต้นแบบ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการ เพื่อช่วยผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ ดังนี้ 

1.ประสานความร่วมมือกับสำนักบริหารการสาธารณสุข กำหนดเป็นตัวชี้วัดใน service plan ใน 2 กลุ่มโรค คือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด 

2.ประสานสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ให้บรรจุในระบบซักประวัติ บันทึกข้อมูล วินิจฉัยโรคเสพติดยาสูบ บันทึกแผนการรักษา 

3.ประสานกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย เพิ่มการเรียนการสอนโทษพิษภัย ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคเสพติดยาสูบ