ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันโรคภัยอันเกิดจากวิถีชีวิตเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้านสาธารณสุขในหลายประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย และความพยายามในการขับเคลื่อน ชุมชนสุขภาวะ อย่างกว้างขวางในประเทศไทยก็นับว่าคล้ายคลึงกับการขับเคลื่อนเรื่อง เมืองสุขภาพดี ในประเทศอังกฤษเพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข              

เว็บไซต์บีบีซี เปิดเผยว่าปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากอาหาร เหล้า และบุหรี่สร้างความเสียหายต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ หรือ NHS ปีละกว่า 11,000 ล้านปอนด์ (ราว 494,506 ล้านบาท) โดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) เตือนว่า NHS จะไม่สามารถให้บริการอย่างทั่วถึงหากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหากลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และหลอดลมอักเสบเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาได้และพบมากถึง 1 ใน 10 ในประชากรวัยกลางคน กลุ่มโรคเรื้อรังดังกล่าวนับเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อความยั่งยืนของบริการสาธารณสุข ดังที่พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้านสาธารณสุขทั้งในรูปตัวเงินคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เมืองฟลีตวูดในมณฑลแลงคาเชอร์

บีบีซีเผยอีกว่า แนวโน้มสุขภาพในย่านที่มีอัตราการว่างงานและประชากรยากจนสูงมักดิ่งลงในทางลบ และนั่นก็รวมถึงเมืองฟลีตวูดในมณฑลแลงคาเชอร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองท่าประมงที่คึกคัก แต่สถิติปัจจุบันกลับระบุว่าชาวเมืองมักมีอายุสั้นกว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นในอังกฤษ

สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่าอายุคาดเฉลี่ยในบางชุมชนของเมืองฟลีตวูดต่ำกว่าเกือบ 7 ปีเมื่อเทียบกับเมืองที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ขณะที่โรคภัยไข้เจ็บรวมถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็ง โรคปอดและหัวใจซึ่งส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับปัญหาเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย เหล้า และบุหรี่ก็กำลังคร่าชีวิตชาวเมืองในอัตราที่น่าวิตก

นพ.มาร์ค สเปนเซอร์ แพทย์ทั่วไปประจำเมืองฟลีตวูดกำลังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของปัญหาดังกล่าว โดยเขาได้จับมือกับชาวเมืองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อพยายามที่จะทำลายวงจรโรคภัยไข้เจ็บด้วยแนวทางใหม่ นั่นคือสร้างเมืองสุขภาพดี

เขากล่าวว่า “เวลาผมบอกชาวบ้านว่าลดน้ำหนักเสียหน่อยเถอะ เลิกบุหรี่สักทีดีไหม ชาวบ้านก็มักจะตอบมาว่า จะสนไปทำไม ชีวิตทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีค่าเลย ทำให้คิดว่าเราจะมีทางไหนบ้างที่จะเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านทำให้เขามีสุขภาพดี และเกิดประโยชน์กับชุมชนในภาพรวมได้”

จึงเกิด โครงการเฮลธิเออร์ฟลีตวูด (Healthier Fleetwood) ขึ้น ซึ่งจะมีการติดตามโครงการของ นพ.สเปนเซอร์ตลอดปีหน้าโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ชาวเมืองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำลายสุขภาพด้วยแนวทางต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องอาหารแก่เด็กชั้นประถมศึกษา ร่วมมือกับชมรมกีฬาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการกำลังกาย ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

คริส เมอร์เรย์ ชื่นชมประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการวิลโลวการ์เดน

โครงการวิลโลวการ์เดน (Willow Garden Project) เป็นหนึ่งในแผนงานที่คาดหวังว่าจะช่วยนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านสุขภาพของคนในเมือง โครงการได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสวยที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ โดยมีชาวเมืองซึ่งมีภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้หรือประสบอุบัติเหตุทางสมองคอยดูแล และนั่นรวมถึง คริส เมอร์เรย์ หนึ่งในผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทางสมอง เขามองว่าโครงการวิลโลวการ์เดนทำให้เขาได้รับมิตรภาพและกำลังใจ

เขากล่าวว่า “การได้เจอเพื่อนที่นี่ดีกับผมมาก การมาที่นี่ทำให้ผมรู้สึกดี ผมคงเคว้งไปเลยถ้าไม่ได้มาที่นี่ในวันอังคาร”

กล่าวได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองฟลีตวูดเป็นปัญหาเดียวกันกับหลายเมืองและชุมชนทั่วสหราชอาณาจักร และคาดว่าผลสำเร็จของโครงการจะช่วยพลิกสุขภาพดีให้ชาวเมืองฟลีตวูดและยังเป็นเหตุผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเรียกร้องให้ชุมชนทั่วประเทศหันมาดำเนินรอยตามเมืองฟลีตวูดด้วย

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์บีบีซี : Illnesses associated with lifestyle cost the NHS £11bn