ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยห่วงอุบัติเหตุจากน้ำเมาปีใหม่ โอกาสเกิด 2 เท่า เผยยอดบาดเจ็บฉุกเฉินใน รพ.ช่วงวันหยุดยาวและช่วงปกติพุ่ง 2 หมื่นกว่าราย ชี้ภาคอีสาน-เหนือหนักสุด และ 1 ใน 4 อายุต่ำกว่า 20 ปี

นางสาวโศภิต นาสืบ สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน รวม 32 แห่ง โดยเก็บข้อมูลในช่วง 7 วันของเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่และสงกรานต์ของปี 2559 และช่วงเวลาปกติ 7 วัน คือต้นเดือน พ.ย.2558 และกลางเดือน ม.ค.2559 พบว่า มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 23,898 ราย แบ่งเป็นบาดเจ็บในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว 12,504 ราย และช่วงปกติ 11,394 ราย ทั้งนี้ ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และพบว่า 1 ใน 4 อายุน้อยกว่า 20 ปี และ 2 ใน 3 เป็นผู้บาดเจ็บในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 

นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว พบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร 4,945 ราย คิดเป็น 39.5% และในช่วงปกติ 4,098 ราย คิดเป็น 36.0% ซึ่ง 80% เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และเกิดอุบัติเหตุบนถนนของ อบต.และถนนหมู่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือถนนของกรมทางหลวงชนบท

“ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว มีจำนวนการบาดเจ็บมากกว่าช่วงปกติ 10.2% ที่น่าห่วงคือ ผู้บาดเจ็บที่ดื่มสุราภายใน 6 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุมีมากกว่าช่วงปกติถึง 24% ซึ่งผู้บาดเจ็บที่ดื่มสุรา ระบุว่า มักจะดื่มเวลาเช้าหรือกลางวันระหว่าง 6.00-15.00 น. การศึกษานี้ยังพบว่าผู้บาดเจ็บที่ดื่มสุรามีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่าผู้บาดเจ็บที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 2 เท่า ทั้งนี้เกือบครึ่งของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรเห็นว่า ถ้าไม่ดื่มสุราจะทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ” นางสาวโศภิต กล่าว

ศ.นพ.สงวนสิน รัตนเลิศ

ศ.นพ.สงวนสิน รัตนเลิศ ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การเมาสุรา เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งพบได้ 40% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บจากผู้ที่เมาสุรา ที่น่าห่วง แอลกอฮอล์ในเลือดสามารถทำลายเนื้อสมองได้โดยกลไกทางเคมี และจะเข้าไปซ้ำเติมการบาดเจ็บของสมองให้มากขึ้น นอกเหนือจากแรงกระทบศรีษะที่ทำให้สมองช้ำหรือตกเลือดใต้กะโหลกศีรษะ ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยช้ากว่าปกติ หรือเกิดความพิการของสมองอย่างถาวร กรณีที่ตับแข็งจากการดื่มสุราจะทำให้อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงกว่าคนปกติมาก

“ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การดื่มสุราเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่มีความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้น ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มงวดซึ่งในหลายประเทศที่ลดปัญหาได้ดี เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังทั้งนั้น เช่น การตรวจสอบอายุของผู้ซื้อ ผู้ดื่ม และเวลา ปิด เปิด ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการตั้งด่านสุ่มตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงในชุมชนให้มากขึ้น และควรลดเพดานระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยานพาหนะจาก50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ขับขี่หน้าใหม่ และเพิ่มการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย งดดื่มสุราในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม ปีใหม่ปีนี้อยากชวนคนไทย ลดละเลิก การดื่มสุรา ดื่มแล้วอย่าขับ และมีสติทุกครั้งที่อยู่บนถนน จะได้มีโอกาสฉลองปีใหม่กับคนที่เรารักในปีต่อๆ ไป” ศ.นพ.สงวนสิน กล่าว