ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติปี 58 พบคนไทยฆ่าตัวตายปีละ 4 พันคน กว่า 3 พันเป็นเพศชายวัยทำงาน สาเหตุหลักจากโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เข้าไม่ถึงการรักษา ขณะที่คนรอบข้างมองเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ แนะดึงวัด ชุมชน ร่วมสร้างพื้นที่กลางแก้ปัญหา

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าในปี 2558 พบคนไทยฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 4,205 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 3,366 คน เพศหญิง 839 คน โดยช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตคืออายุระหว่าง 30-39 ปี ซึ่งนับเป็นช่วงวัยแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัว โดยเฉพาะเพศชายที่ส่วนใหญ่รับบทหนักในฐานะหัวหน้าครอบครัว

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ในงานเสวนาเรื่อง “เหลียวหลัง...มองไปข้างหน้าต่อการรับมือปัญหาฆ่าตัวตาย” จัดขึ้นภายในลานสมัชชาสุขภาพ ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีหลายภาคส่วนให้ความสนใจเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนหาทางออกในประเด็นดังกล่าว

นางอรพิน ยอดกลาง

นางอรพิน ยอดกลาง ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายว่า ส่วนใหญ่เกิดเกิดจากโรคซึมเศร้า ซึ่งเรื้อรังมาจากปัญหาความเครียดที่พ่วงมากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านมาจึงมักเห็นข่าวเกษตรกร ชาวนา ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผูกคอตายรองลงมาคือรับประทานยาพาราเซตามอลจนเกินขนาด และดื่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

“เกษตรกรนับเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความเจ็บป่วย โดยเฉพาะปัญหาความเจ็บป่วยทางจิต อย่างโรคซึมเศร้า ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรฆ่าตัวตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 คน เกิดขึ้นช่วงเดียวกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ” นางอรพินกล่าว

กระนั้นก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถรักษาชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นคนในครอบครัว เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อคนกำลังจะตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองมักจะส่งสัญาญบางอย่างให้คนรอบข้างเห็น เป็นการขอความช่วยเหลือ

เดี๋ยวดีเดี๋ยวราย กินมากเกินไป คือ สัญญาณเตือนปลิดชีวิต

ข้อสังเกตแรกจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนางอรพินแนะนำว่า สิ่งแรกที่สังเกตได้ง่ายคือ พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไม่ว่าจะกินมากหรือน้อยจนเกินพอดีก็ตาม หลายครั้งที่ครอบครัวไม่เอะใจและคิดไปว่าเป็นเพียงความเครียดธรรมดา หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยกรีดร้องขึ้นมา แล้วกลับมาอารมณ์ดีอย่างทันที กลับถูกครอบครัวมองว่าเป็นเรื่องของการเรียกร้องความสนใจ สุดท้ายได้รับการรักษา ขณะที่ครอบครัวกลับไม่เหลียวแล

“ใครจะรู้ว่าเพียงแค่คำพูดสั้นกระชับเรียบง่ายอย่าง ‘ให้ไปตายซะ’ จะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลายครั้งที่ผู้ป่วยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่กลับถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคนในครอบครัว ซึ่งกว่าจะรู้ ผู้ป่วยก็ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองไปเสียแล้ว” อรพินกล่าว

สำหรับกรณีที่รู้ว่าคนในครอบครัวส่งสัญาณเตือนขอความช่วยเหลือ กระนั้นอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยในชนบทส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษาทางจิตเวช หรือได้รับการบำบัด เนื่องจากสถานพยาบาลเฉพาะทางยังมีอยู่อย่างจำกัดเพียงในบางจังหวัด และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมือง ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้ในยามไม่ถึงมือหมอ คือ การให้ชุมชนมีส่วนช่วยในการรักษา เพราะอย่างไรเสีย ท้ายที่สุดเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก็ต้องกลับมาอยู่ร่วมกับชุมชน

แนะดึงชุมชน วัด สร้างพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนปัญหา

พระปลัดมานับ ปภสฺสโรฺ

พระปลัดมานับ ปภสฺสโรฺ เจ้าอาวาสวัดกลางวังน้ำเขียว ตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่เดิมที่หลายชุมชนมีวัดเป็นที่พึ่งทางจิตใจยามเกิดปัญหาและไม่รู้จะหันหน้าเข้าหาใคร แต่ปัจจุบันพบว่า วัด เป็นเพียงแค่ศาสนสถานทางพิธีกรรมเท่านั้น ขณะที่พระธรรมคำสอนกับหลุดลอยไปจากจิตใจ ดังนั้นเมื่อไม่มีที่พึ่งทางใจ หลายคนจึงตัดสินใจหาทางออกด้วยการจบชีวิตตัวเอง

“จากเดิมที่วัดเคยเป็นที่พึ่งทางใจกลับกลายเป็นเพียงศาสถานธรรมดา ผลที่ตามมาคือเมื่อเกิดปัญหาชีวิตก็ไม่รู้จะหันหน้าไม่พึ่งใคร สุดท้ายลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย” พระปลัดมานับกล่าว

พระปลัดมานับเสนอทางออกด้วยการให้ชุมชนหันกลับไปใช้วัดเป็นศูนย์กลางทางจิตใจเช่นในอดีตที่ผ่านมา และที่สำคัญ วัด ยังเป็นแหล่งรวมของคนในชุมชนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะใช้สร้างพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนปัญหาของแต่ละครอบครัวที่มีปัญหาคล้ายกันได้เข้ามาเจอกัน และร่วมแลกเปลี่ยนทางรักษาในที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง