ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายด้านสาธารณสุขสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2556 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 เรื่องการให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม นับได้ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณสุขสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยค่อนข้างมาก กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนข้ามชาติทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนข้ามชาติกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง โดยให้เป็นไปตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่กระทรวงสาธารณสุขจะได้กำหนดร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ ในการดูแลให้การบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และอนามัยเจริญพันธุ์ในแรงงานข้ามชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 12 มิถุนายน 2555เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร ต่อไปอีกจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เพื่อเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติเหล่านั้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้มีประกาศเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานสัญชาติลาว กัมพูชา และพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว โดยยกเว้นไม่ขึ้นทะเบียนกรณีเป็นลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างและนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล กรณีลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย และกรณีเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายด้านแรงงานเกี่ยวกับการให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และดูแลหลักประกันความมั่นคงในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน การปรับปรุงแนวทางการขยายความคุ้มครอง และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการกำกับดูแล ติดตามการเข้าออกของแรงงานทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นความจำเป็นของการจัดการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และสามารถป้องกันควบคุมโรคที่มากับแรงงานเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงฯ และมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติ ปี 2556 ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สรุปความว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจในการดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ประกอบด้วยกิจกรรมการตรวจสุขภาพประจำปี การบริการด้านการรักษาพยาบาล การบริการสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคและการเฝ้าระวังโรค มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนข้ามชาติทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นกลุ่มคนข้ามชาติในกิจการประมง กิจการเกษตรและปศุสัตว์ กิจการก่อสร้าง กิจการต่อเนื่องประมงทะเล ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการอื่นๆ ที่จังหวัดเสนอตามที่จำเป็น และคณะกรรมการบริหารคนข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองเห็นชอบ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ตลอดจนครอบครัวและผู้ติดตาม โดยมีการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการให้บริการ ARV แก่ผู้ป่วยข้ามชาติ รวมถึงขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้คนข้ามชาติทุกคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ การประกันสุขภาพมีอายุคุ้มครอง 1 ปี นับจากวันที่ซื้อประกันสุขภาพ มีอัตราค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแตกต่างกัน ดังนี้

(1) คนข้ามชาติที่รอเข้าระบบประกันสังคม 1,047 บาท

(2) คนข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าในระบบประกันสังคม และผู้ติดตาม 1,900 บาท

(3) เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี คนละ 365 บาท

ในส่วนของสถานพยาบาลที่ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้ดำเนินการโดยสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชน โดยสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติต้องเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญาหลักที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับพื้นที่ในการดำเนินการโครงการให้เป็นไปตามเขตการแบ่งพื้นที่ตาม โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในส่วนภูมิภาคให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำหนด สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้กรมการแพทย์กำหนด ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรมการแพทย์ อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม กรณีคนข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม การปรับเพิ่มอัตราค่าประกันขึ้นอีก 900 บาทโดยไม่มีข้อบังคับในการซื้อประกันสุขภาพเช่นเดียวกับระบบประกันสังคมนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาให้คนข้ามชาติไม่สมัครใจซื้อบัตรประกันสุขภาพ ในขณะที่หน่วยบริการด้านสุขภาพต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแก่ผู้ป่วยข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ และไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยได้

ต่อมาในปีพ.ศ.2557-2558 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติ อยู่หลายครั้งตามนโยบายของรัฐบาล กล่าวคือ

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 และ 27 มิถุนายน 2557 เพื่อดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่70/2557 วันที่ 25 มิถุนายน 2557 ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัวและตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และต่อมาได้มีการปรับปรุงรูปแบบมาตรการและแนวทางการดำเนินงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนข้ามชาติที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

ในปีพ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558 โดยให้มีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ทุกคนโดยยกเว้นการเก็บค่าบริการตรวจพัฒนาการตามวัยในบุตรคนข้ามชาติที่มีอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ มีอัตราค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ดังนี้

แรงงานข้ามชาติรวมผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทยทุกคน บัตรราคา 2,100 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี (ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,600 บาท)

แรงงานข้ามชาติรวมผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทยทุกคน บัตรราคา 1,400 บาท มีอายุคุ้มครอง 6 เดือน (ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 900 บาท)

แรงงานข้ามชาติรวมผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทยทุกคน บัตรราคา 1,000 บาท มีอายุคุ้มครอง 3 เดือน (ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท)

เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ บัตรราคา 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ(ตรวจพัฒนาการตามวัย)

สำหรับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสัญชาติอื่นๆเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติม ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้ดำเนินการโดยหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานบริการอื่นที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับพื้นที่ดำเนินการให้แบ่งพื้นที่โดยอ้างอิงจากพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีแนวทางในการตรวจสุขภาพตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ตลอดจนการควบคุมมาตรฐานการตรวจสุขภาพและการตรวจรักษาโรคที่ควบคุมให้ครบวงจร

ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกประกาศกระทรวงเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558 เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแก่คนข้ามชาติทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้

(1)คนข้ามชาติทั่วไป บัตรราคา 2,700 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี (ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท)

(2)เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ บัตรราคา 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ

โดยจะเห็นว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับที่ระบุถึง “แรงงานต่างด้าว” กับ “คนต่างด้าว” มีอัตราค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ในขณะที่มาตรการและแนวทางการดำเนินงานเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

เก็บความจาก

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ลงวันที่ 13 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2556

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558

มาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวกระทรวงสาธารณสุขปี 2557-2558