ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ระนอง" เป็นจังหวัดที่มีแรงงานชาวเมียนมาเข้ามาอยู่อาศัยทำงานเป็นจำนวนมากกลายเป็น "ฟันเฟือง" หนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งการจัดระเบียบด้านคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลสุขภาพ และการศึกษาของแรงงานเหล่านี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในจังหวัดระนอง จำนวนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาโดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บางริ้น ถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ จากการที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) รวมถึงจัดตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้ามาทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านของไทย โดยในพื้นที่ อสต. ทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การอบรมให้ความรู้ทุกปีจากนั้นจะได้รับมอบหมายให้ดูแลชาวเมียนมาในชุมชนของตนเอง เช่น เมื่อมีโรคระบาดให้ไปแจ้งข่าวที่ รพ.สต. เพื่อวางแผนป้องกันโรค และเมื่อลงเยี่ยมติดตามผู้ป่วย อสต.จะติด ตามไปด้วย เพื่อเป็นล่าม และให้คำแนะนำ ส่งผลให้แรงงานชาวเมียนมามีความเชื่อมั่น และยอมเข้าถึงบริการสาธารณสุขในท้องถิ่นมากขึ้น

นายชูวงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนของมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ก็ได้เข้ามาช่วยเชื่อมโยงเรื่องของการศึกษาให้เป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบ เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงคนในสังคมให้ยอมรับการอยู่ร่วมกันได้ โดยระนองเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ สสส. ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการให้เกิดพื้นที่การศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนอยู่ทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ โดยมีการเรียนการสอนในหลักสูตร กศน. ของไทยควบคู่กับหลักสูตรเมียนมา เมื่อเด็กเรียนจบก็สามารถเข้าเรียนต่อที่ประเทศของตนเอง และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้

มาที่ นางธิดา ซาน อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ชาวเมียนมา เล่าว่า ตอนที่เข้ามาทำงานในไทย คิดเพียงแค่อยากหาเลี้ยงครอบครัว ไม่เคยคิดถึงเรื่องสุขภาพ รวมถึงการศึกษาของลูกหลาน เนื่องจากภาวะต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อทาง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) เข้ามาชักชวนเพื่อลงพื้นที่ไปช่วยแปลภาษาให้กับทาง อสม. ก็พบเห็นว่า ปัญหาสุขภาพของพี่น้องชาวเมียนมามีมากมาย

'การได้รับโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้ภูมิใจ และยังได้มิตรภาพที่ดีจากคนไทยที่อยู่รอบ ๆ ทำให้รู้สึกดีรักที่จะทำหน้าที่นี้โดยไม่หวังผลตอบแทน" อาสาสมัครชาวเมียนมา กล่าวทิ้งท้าย