ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.กำชับให้สถานพยาบาลในจังหวัดภาคใต้ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการในพื้นที่ประชาชนเข้าถึงบริการยากลำบากอย่างต่อเนื่อง ส่งแพทย์ พยาบาล ทีมแพทย์ฉุกเฉินสนามจากจังหวัดพังงา ภูเก็ตใกล้เคียง ช่วยโรงพยาบาลน้ำท่วมจัดบริการประชาชน พร้อมมอบให้สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 11 ประจำศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด่านหน้าของกระทรวงมหาดไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมวางแผนช่วยเหลือประชาชนให้พื้นที่ประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 6 มกราคม 2560 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามการช่วยเหลือด้านแพทย์ประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ว่า ได้กำชับให้สถานบริการ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการในพื้นที่ประชาชนเข้าถึงบริการยากลำบากอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนกลางพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ไปแล้ว กว่า 200,000 ชุด ขณะนี้มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 102 แห่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส ตรัง สงขลา ยะลา ปัตตานี และชุมพร ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ โดยมีสถานบริการที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดอีก 66 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.สต. ได้มอบหมายให้ นพ.เจษฏา ฉายคุณรัฐ สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 11 ไปประจำที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด่านหน้าของกระทรวงมหาดไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมวางแผนช่วยเหลือประชาชน

สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 37 แห่ง เป็น รพ.สต. 17แห่ง โรงพยาบาลอำเภอ 4แห่ง โรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง โดยที่โรงพยาบาลชะอวด สถานการณ์น้ำยังมีแนวโน้มท่วมต่อเนื่อง ได้ย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ออกซิเจนไปยังโรงพยาบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช 8 ราย อีก 40 รายเป็นผู้ป่วยทั่วไป หากน้ำไม่ลดมีแผนจะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใกล้เคียง ได้รับการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากหน่วยทหารในพื้นที่  ยังสามารถเปิดบริการได้ เพียงแต่การเดินทางเข้าออกลำบาก

ทั้งนี้ ให้ รพ.สต.ออกเยี่ยมให้บริการผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้ประสานส่งแพทย์ พยาบาล จากจังหวัดพังงา ภูเก็ต รวมทั้งทีมแพทย์สนามฉุกเฉินในเขตภาคใต้ 10 ชุด (MERT) ไปช่วยเหลือการจัดบริการประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่กว่าร้อยละ 50 ประสบภัยน้ำท่วม

“ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาชุดน้ำท่วมสำรองไว้ให้เพียงพอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่งอาหารน้ำดื่มสนับสนุน กรมสุขภาพจิตส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรมอนามัยสนับสนุนคลอรีนดูแลความสะอาดของน้ำ กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคระบาด ร่วมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพส่งทีมวิศวกรสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด โดยมอบให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์” นพ.โสภณ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสั่งการให้โรงพยาบาลในภาคใต้ ดำเนินการรับมือปัญหาอุทกภัยตั้งแต่ กรกฏาคม 2559 โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยง เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม ขนย้ายยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่ปลอดภัย เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องสำรองไฟ เครื่องปั่นไฟ สำรวจและวางแผนดูแลกลุ่มเสี่ยง ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง