ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าของรางวัล “อโชก้าเฟลโลว์” หวังบรรจุ “แพทย์พื้นบ้าน” ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง นำร่องโรคผิวหนัง-แผลเบาหวาน แต่สภาพปัญหาปัจจุบันคือทรัพยากรถูกทำลาย สมุนไพรสูญหายจากประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้สมุนไพร

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย เจ้าของรางวัล “อโชก้าเฟลโลว์” ประจำปี 2559 เปิดเผยว่า ทุกวันนี้แม้ว่าระบบการแพทย์สมัยใหม่จะก้าวหน้ามาก แต่หลักคิดเรื่องการพึ่งตัวเองของชุมชนยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถึงที่สุดแล้วโรงพยาบาลคงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาเริ่มทำงานจากแนวคิดเรื่องสมุนไพรกับการพึ่งตนเอง ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานก็ได้ความรู้จากชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสได้พบกับหมอยาซึ่งเป็นบุคคลที่ยังคงดำรงอยู่ แต่นับวันจะค่อยๆ สูญหายไป

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้นมาก และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การแพทย์แผนไทยได้เข้าไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพและได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแพทย์พื้นบ้านที่แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือการสร้างเสริมสุขภาพ และการรักษานั้น น่าสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนซึ่งมีทั้งองค์ความรู้ บุคลากร และฐานทรัพยากร แต่นับวันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ กลับมาเป็นจุดแข็งอีกครั้ง และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้

“ถึงแม้หลักประกันสุขภาพจะดีอย่างไร แต่การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน การป้องกันโรค ชุมชนควรที่จะพึ่งพาดูแลตัวเองกันได้” นายวีรพงษ์ กล่าว

นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในโลกนี้มีระบบการแพทย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แบบตะวันตก การแพทย์แผนจีน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าการแพทย์ใดการแพทย์หนึ่งคงไม่สามารถครอบคลุมโรคได้ทั้งหมด ระบบการแพทย์จึงมีความหลากหลายเพื่อสนองตอบการเจ็บป่วยที่แตกต่างและวัฒนธรรมที่สอดคล้อง ฉะนั้นการแพทย์พื้นบ้านก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ลำพังหมอพื้นบ้านอย่างเดียวคงทำงานให้สำเร็จได้ยาก เนื่องจากหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ฉะนั้นจึงต้องเชื่อมโยงกับบุคลากรสาธารณสุข และส่วนสำคัญที่สุดก็คือกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ คืนความรู้ให้กับชุมชน ทำฐานข้อมูล รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่ม และเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ ยกระดับศูนย์การเรียนรู้

“แต่เดิมในชุมชนจะมีจุดบริการคล้ายๆ คลินิกใน 3 รูปแบบ คือ วัด บ้าน และศูนย์เรียนรู้ต่างๆ แต่ปัจจุบันเริ่มมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้ามาทำงานกับหมอพื้นบ้าน แต่ก็ยังไม่ได้เป็นระบบมากนัก ส่วนตัวมีความคาดฝันว่าหากมีการทำงานเป็นระบบขึ้น สปสช.อาจจะเพิ่มส่วนนี้เข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์ คือในอนาคตหากชาวบ้านเจ็บป่วยและไปหาหมอพื้นบ้านในสถานที่ที่ได้รับรองมาตรฐาน มีความรู้ที่ดี คนไข้เหล่านี้น่าจะอยู่ในสิทธิระบบบัตรทองได้” นายวีรพงษ์ กล่าว

นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้การแพทย์แผนปัจจุบันกำลังสนใจตำรับยาของการแพทย์พื้นบ้านที่ช่วยรักษาแผลจากโรคเบาหวาน ตัวยาของการแพทย์พื้นบ้านหลายชนิดทำให้แพทย์แผนปัจจุบันประหลาดใจว่าช่วยสามารถรักษาแผลได้ดี ซึ่งถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต่อไปอาจจะเกิดเป็นระบบเชื่อมต่อ คืออะไรที่แพทย์พื้นบ้านพร้อม มีความปลอดภัยสูง ก็สามารถเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข หรือระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไปก่อนได้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าทุกวันนี้เรื่องทัศนคติยังมีปัญหา รวมทั้งในกลุ่มของบุคลากรการแพทย์แผนปัจจุบันที่มักจะไม่ยอมรับและไม่เชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ แต่ปัจจุบันชัดเจนว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะมีการศึกษาและงานวิจัยออกมารองรับ มีตำรับยาหลายอย่างที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ แต่กลับหาคำตอบได้ในการแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์แผนไทย เช่น กลุ่มโรคผิวหนัง ที่แพทย์แผนปัจจุบันนำไปศึกษาและนำมาใช้รักษาผู้ป่วย

“ปัญหาในขณะนี้คือฐานทรัพยากรถูกทำลาย ป่าไม้ สมุนไพรในหลายพื้นที่สูญหาย หมอยาบางพื้นที่จำเป็นต้องสั่งตัวยามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการส่งเสริมให้ชุมชนมีป่าชุมชน ปลูกพันธุ์สมุนไพรที่ใช้บ่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจแปรรูปไปสู่ธุรกิจของชุมชนได้” นายวีรพงษ์ กล่าว