ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากคุณคิดว่าเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะเป็นเพียงปัญหาเชิงทฤษฎี...โปรดอ่านบทความจาก scientificamerican.com นี้ต่อจนจบ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐเนวาดาของสหรัฐอเมริการายงานพบหญิงชราเสียชีวิตที่เมืองเรโนเมื่อเดือนกันยายนปีก่อนโดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเชื้อโรคดื้อยาที่พบในร่างหญิงชราสามารถทนต่อยาปฏิชีวนะถึง 26 ตัว

“ยาทุกตัวที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ทำอะไรเชื้อนี้ไม่ได้เลยครับ” นพ.อเล็กซานเดอร์ คัลเลน เจ้าหน้าที่ประจำกองส่งเสริมคุณภาพการบริการสุขภาพของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) เผย

เชื้อ Klebsiella pneumonia ซึ่งดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิดคร่าชีวิตหญิงวัย 70 ปีในรัฐเนวาดาของสหรัฐอเมริกาเมื่อกันยายนปีก่อน ภาพ: ซีดีซี  

แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบผู้ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายตัว แต่ ศ.นพ.เจมส์ จอห์นสัน ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อประจำมหาวิทยาลัยมิเนโซตาและแพทย์เฉพาะทางศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึกรัฐมิเนโซตามองว่า กรณีนี้นับเป็นเค้าลางของปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกฟากหนึ่งมองว่า การพบผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาทุกตัวตอกย้ำถึงความจำเป็นที่นักวิจัยและรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อโรคดื้อยาอย่างจริงจัง และเห็นว่าโรงพยาบาลควรซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศหรือการนอนโรงพยาบาลเมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้มีรายงานว่าผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในอินเดียเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอินเดียมีความชุกของแบคทีเรียดื้อยาหลายตัวสูงกว่าในสหรัฐฯ ผู้เสียชีวิตประสบปัญหากระดูกต้นขาขวาหักขณะพักอาศัยอยู่ในอินเดียเมื่อ 2 ปีก่อน จากนั้นได้เกิดภาวะติดเชื้อในกระดูกต้นขาและสะโพกจนต้องเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลในอินเดียหลายครั้งตลอด 2 ปี โดยได้เข้ารักษายังโรงพยาบาลในอินเดียครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน

ผู้เสียชีวิตซึ่งข้อมูลระบุเพียงว่าเป็นประชากรเมืองวาโชเคาน์ตีและมีอายุในช่วง 70 ปีได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองเรโนเมื่อกลางเดือนสิงหาคมต่อมา กระทั่งพบว่าติดเชื้อ carbapenem-resistant enterobacteriaceae (CRE) อันเป็นคำเรียกขานสำหรับแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งเกิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม carbapenems ที่ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายเมื่อยาปฏิชีวนะอื่นล้มเหลว  

โดย นพ.ทอม ฟรีเดน ชี้ว่า เชื้อ CRE เป็น “เชื้อโรคมรณะ” จากความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา

ในกรณีหญิงวัย 70 ปีดังกล่าวพบเชื้อ Klebsiella pneumonia ซึ่งมักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยแพทย์ระบาดวิทยาอาวุโสเขตสาธารณสุขเมืองวาโชเปิดเผยว่ากรณีนี้นับเป็นครั้งแรกที่พบแบคทีเรียดื้อยา 14 ตัวอันเป็นจำนวนยาทั้งหมดที่โรงพยาบาลมีอยู่

โรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างไปตรวจเพิ่มเติมยังห้องปฏิบัติการของซีดีซีที่เมืองแอตแลนตา ซึ่งตอกย้ำว่ายาปฏิชีวนะเท่าที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งหมดไม่สามารถรักษาภาวะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดย นพ.คัลเลนยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างรู้สึกหมดหวังเมื่อต้องพบกับเชื้อดื้อยาลักษณะนี้ 

“ถือว่าน่าเป็นห่วงครับ เราจำเป็นต้องอาศัยยาปฏิชีวนะตัวใหม่ แต่เชื้อโรคกลับพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าจนการผลิตยาใหม่ก้าวตามไม่ทัน” นพ.คัลเลน กล่าว

สำหรับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามการแพร่ระบาดของการดื้อยาปฏิชีวนะแล้ว กรณีนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนอันตรายครั้งสำคัญ

“ผู้ป่วยรายนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ว่าเราจำเป็นต้องมีความร่วมมือในระดับโลก รวมถึงแผนงานรับมือการดื้อยาปฏิชีวนะที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ” แลนซ์ ไพรซ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุ

รายงานผลการศึกษาวิจัยเผยแพร่เมื่อปีก่อนชี้ว่า การดื้อยาปฏิชีวนะอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละ 10 ล้านคนภายในปี 2593 หากยังคงไม่มีการแก้ไข และเมื่อเดือนกันยายนปีก่อนสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งสะท้อนถึงความน่าวิตกของปัญหานี้

เจ้าหน้าที่เผยว่า โรงพยาบาลได้ให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหญิงจากรัฐเนวาดาตามแนวทางแยกผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรคเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล และจากการตรวจ STAT ไม่พบการติดเชื้ออื่น

ศ.นพ.จอห์นสันมองว่า เป็นไปได้ที่จะมีผู้ป่วยรายอื่นในสหรัฐฯ ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียลักษณะเดียวกันในลำไส้และอาจเกิดเจ็บป่วยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

“ทำใจเชื่อได้ยากนะครับถ้าจะคิดว่าผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นผู้ติดเชื้อเพียงรายเดียวในสหรัฐฯ...เวรกรรมพาเธอไปอินเดียจนทำให้ติดเชื้อ...เมื่อผู้ติดเชื้อกลับมายังสหรัฐฯ แล้วก็เสียชีวิต...และตอนนี้เชื้อโรคหมดไปจากสหรัฐฯ แล้ว”

“หลายคนถามผมว่า ‘เราควรตื่นตัวขนาดไหน?’…หรือ ‘เราเฉียบขอบเหวมาขนาดไหนแล้ว?’  ซึ่งผมก็ตอบพวกเขาว่า ‘เราตกเหวมาเรียบร้อยแล้วครับ’  วิกฤติได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังคงอยู่ในวงจำกัดและเกิดขึ้นกับคนที่ห่างไกลจากตัวเรา จะรู้ซึ้งก็เมื่อเห็นกับตานั่นล่ะครับ” ศ.นพ.จอห์นสัน กล่าว

เรียบเรียงจาก Woman Killed by a Superbug Resistant to Every Available Antibiotic : www.scientificamerican.com