ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” เผยกรณีทันตแพทยสภาชะลอการบังคับใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่อง หากกฎหมายกำหนดไว้ชัดแล้ว ก็ต้องปฏิบัติ เพราะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ด้าน ภาคประชาชน หนุน “ทันตแพทยสภา” เดินหน้าประกาศหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องเพื่อต่อใบอนุญาตหมอฟัน เผยเป็นทิศทางเดียวกับทั่วโลก แนะ “หมอฟัน” กลุ่มค้านเปิดใจ ถึงไม่มีเก็บคะแนนต่อใบอนุญาต ในฐานะวิชาชีพสุขภาพต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่แล้ว

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นการจัดระบบการศึกษาต่อเนื่องของวิชาชีพทันตแพทย์ว่า ทางทันตแพทยสภาได้สอบถามข้อคิดเห็นของ กมธ.ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ให้ข้อคิดเห็นในหลักการไปว่า หากจะต้องมีการตีความกฎหมาย หรือกรณีที่กฎหมายเขียนไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ ก็ให้ดูที่เจตนารมณ์ของ สนช.หรือ กมธ.ในฐานะที่เป็นผู้ออกกฎหมายว่ามีเจตนาในการออกกฎหมายอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ก็ต้องปฎิบัติ เพราะมีผลบังคับใช้แล้ว

ด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค. 60) จะเข้าร่วมแสดงความเห็นในฐานะภาคประชาชนในเวทีรับฟังความเห็น “การจัดทำหลักเกณฑ์ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพทันตกรรม” จัดโดยทันตแพทยสภา โดยความเห็นส่วนตัวมองว่า การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข เนื่องจากด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ต่อเนื่องตลอดเวลา จำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ต้องมีการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นกัน

ซึ่งการใช้หลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องเพื่อต่อใบอนุญาตยังเป็นทิศทางที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาใช้ดำเนินการ และยกมาตรฐานวิชาชีพเพื่อให้ทันต่อความรู้ที่เปลี่ยนแปลง แม้แต่ประเทศไทยเอง วิชาชีพด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นพยาบาล และเภสัชกร ต่างใช้หลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องเพื่อต่อใบอนุญาตทั้งสิ้น มีเพียงทันตแพทย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการภายหลังจากที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2559  รวมถึงแพทยสภาเท่านั้น  

ส่วนที่ผ่านมามีทันตแพทย์บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับทันตแพทยสภา ในการกำหนดหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องที่ให้มีการพักใบอนุญาตกรณีที่เก็บคะแนนไม่ครบตามเกณฑ์นั้น นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อวิชาชีพทันตกรรมเอง เพราะจะเป็นการยกคุณภาพและมาตรฐานทันตแพทย์ในฐานะผู้ปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังเป็นการคุ้มครองและให้ความมั่นใจกับประชาชนในฐานะผู้รับบริการยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้เปิดใจรับฟังเหตุผลรอบด้าน

“เรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรคงต้องเดินหน้าเพราะเป็นเรื่องสำคัญและทั่วโลกต่างกำลังเดินมาในทิศทางนี้ โดยความรู้ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่สามารถเรียนครั้งเดียวแล้วจบได้ จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่แล้วไม่ว่าจะมีหลักเกณฑ์เก็บคะแนนมาบังคับหรือไม่ ดังนั้นการเก็บคะแนนตามหลักเกณฑ์ที่ทันตแพทยสภากำหนดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ทันตแพทย์ที่ยังปฏิบัติงานในวิชาชีพทำได้ไม่ลำบาก ส่วนที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องใดนั้น คงต้องมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ทั้งสำหรับวิชาชีพทันตแพทย์เองและประชาชน” นางสาวกรรณิการ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้เรื่องบริการสาธารณสุขไม่ได้เป็นแค่เรื่องการซื้อและขายสินค้า แต่เป็นเรื่องการรักษาและดูแลสุขภาพ ดังนั้นจึงต้องสร้างความมั่นใจในมาตรฐานวิชาชีพ

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า วันนี้อยากให้ทันตแพทยสภายืนหยัดในหลักการและทำความเข้าใจกับกลุ่มที่เห็นต่างให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงวิชาชีพทันตกรรมและแพทย์เท่านั้นที่ยังไม่ได้ทำในเรื่องนี้ ซึ่งเราควรที่จะเดินไปในแนวทางเดียวกับทิศทางทั่วโลก อย่างไรก็ตามในการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องที่เป็นปัญหาขณะนี้ มองว่ายังไม่ใช่ปัญหาขัดแย้งที่ร้าวลึก ซึ่งอยากให้ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยหลักการและเหตุผล โดยภาคประชาชนขอสนับสนุนให้มีการออกประกาศดังกล่าวนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพทันตแพทย์และประชาชนเอง