ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจนีวา - สมาชิกส่วนใหญ่ดับเบิลยูทีโอ เห็นชอบแก้ไขกฎอนุญาตประเทศยากจนนำเข้ายาสามัญ หลังเจรจากว่า 10 ปี

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายโรเบอร์โต อเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แถลงเมื่อวันจันทร์ (23 ม.ค.) ว่า สมาชิกดับเบิลยูทีโอจำนวน 2 ใน 3 เห็นชอบแก้ไขความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา อันเกี่ยวกับการค้า (ทริปส์) เพื่อให้ประชาชนยากจนที่สุดของโลกเข้าถึงยารักษาโรค เช่น เอชไอวี/เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย นับเป็นครั้งแรกที่แก้ไขกฎดับเบิลยูทีโอ พ.ศ.2538 และกฎที่ผนวกรวมกัน ซึ่งผ่อนปรนชั่วคราวให้ประเทศที่ไม่สามารถผลิตยาสามัญ นำเข้ายาเหล่านี้ได้ ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอกล่าวว่า ข้อตกลงดับเบิลยูทีโอน่าจะช่วยให้การพัฒนาและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกดีขึ้น รวมทั้งเสริมเป้าหมายอื่นๆ เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข

ด้านนางมาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยินดีกับการแก้ไขกฎครั้งนี้ แต่กล่าวว่า ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เพื่อทำให้ยาทั้งที่มีสิทธิบัตรและปลอดสิทธิบัตร มีราคาถูกและเข้าถึงได้

"หนทางบรรลุการเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลกยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ค่าใช้จ่ายของการรักษาด้วยวิธีการใหม่ๆ ยังไม่แน่ไม่นอน แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย" นางชานกล่าว

ทั้งนี้ ข้อตกลงดั้งเดิมของทริปส์อนุญาตให้รัฐบาลประเทศยากจนและกำลังพัฒนา ผลิตยาสามัญเพื่อใช้ภายในประเทศโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าของสิทธิบัตรได้ ภายใต้ข้อตกลงมาตรการบังคับใช้สิทธิ แต่ประเทศยากจนอีกจำนวนมากที่ไม่มีศักยภาพการผลิต ยังไม่สามารถเข้าถึงยา เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดให้นำเข้ายา

ในปี 2546 สมาชิกดับเบิลยูทีโอจึงผ่อนปรนชั่วคราวให้ประเทศเหล่านั้น โดยต้องทบทวนทุกๆ 2 ปี ในปี 2548 สมาชิกเห็นชอบให้ยกเลิกเป็นการถาวรหากสมาชิก 2 ใน 3 จากทั้งหมด 164 ประเทศยินยอม

ขณะเดียวกัน นายอเซเวโด กล่าวว่าโลกควรระวังการตกสู่สงครามการค้าที่อาจทำลายตำแหน่งงาน หลังจากมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนระมัดระวัง แสดงความเป็นผู้นำ และหลีกเลี่ยงการนำตัวเองเข้าสู่วิกฤติ พร้อมเสริมว่าการค้าช่วยให้คนหลายพันล้านหลุดพ้นความยากจน แต่ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันมากกว่านี้ เพราะผลกระทบแง่บวกของการค้าจะไร้ความหมายหากคนนั้นตกงาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 มกราคม 2560