ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอมงคล” เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ซีแอลยาเอดส์ ทั้ง ครม.มีนายกสุรยุทธ์ช่วยแก้ต่างให้คนเดียว ฝรั่งชี้หน้า You are the bad guy ขณะที่รัฐมนตรีของสหรัฐฯ คนหนึ่งในยุคนั้น เชิญไปพูดคุยนอกรอบเห็นด้วยกับไทยเต็มที่ และขอให้ทำแบบนี้ต่อไปในการดูแลประชาชน

นพ.มงคล ณ สงขลา

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุม “มองไปข้างหน้า : บทเรียน 10 ปี CL และการเข้าถึงยาจำเป็น” ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ในปี 2549 ว่าเป็นเรื่องที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเอดส์ในอดีตมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาต้านไวรัส โดยช่วงพีคสุดอยู่ในปี 2540 มีผู้ป่วยโรคเอดส์กว่า 5 แสนราย และทุกปีหลังจากนั้นก็มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 5 หมื่นราย ซึ่งผู้บริหาร สธ.ก็พยายามเจรจากับบริษัทยา ไม่ว่าจะผ่านหนังสือราชการหรือแม้แต่การส่งปลัดกระทรวงไปเจรจา แต่ก็ไม่เคยได้รับการลดหย่อนราคายาแม้แต่ครั้งเดียว

“ดังนั้น อย่าไปหวังว่าเราจะได้รับความเห็นใจจากบริษัทยา” นพ.มงคล กล่าว

อย่างไรก็ดี ในระหว่างนั้น ทาง สธ.โดยเฉพาะกรมควบคุมโรค ก็พยายามทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการพูดคุยหาทางออก จนกระทั่งต่อมาตนได้มีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี ทีมงานของภาครัฐและเอกชนที่ทำงานร่วมกันมาก่อนหน้านี้ก็นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ เข้ามาหารือว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้บอกให้ไปตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนอีกครั้ง จนกระทั่งข้อมูลต่างๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ตนจึงนำเรื่องนี้ไปหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 วัน โดยให้ข้อมูลเรื่องสถานการณ์ปัญหา และข้อมูลว่าการทำซีแอลจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์เท่าใด และจะมีเงินเหลือจากการประหยัดค่ายาไปทำอย่างอื่นอย่างไร

“ที่ผมต้องไปขออนุญาตท่านนายกฯ เพราะช่วงนั้นรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ก็เตรียมประกาศทำซีแอล แล้วก็ถูกกดดันจนต้องลาออก เราจึงต้องก้าวอย่างระมัดระวัง ท่านนายกฯ ก็ถามย้ำอยู่ 2-3 รอบว่าเรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมายแน่นะ ทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ผมก็ยืนยันไป ท่านนายกฯ สุรยุทธ์ก็บอกว่าถ้าคุณหมอมั่นใจว่าไม่ผิดกฎหมายก็ทำได้เลย วันรุ่งขึ้นเราก็ประกาศซีแอล เป็นข่าวดังไปทั่วโลก” นพ.มงคล กล่าว

อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า หลังจากประกาศซีแอลไปแล้ว ก็ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงด่า โดยในส่วนของเสียงโจมตีจะมาเป็นขบวนการ เป็นระบบ พอโดนรอบด้านแบบนี้ก็มึนเหมือนกัน แต่ทีมงานของ ภญ.สำลี ใจดี (ผู้บุกเบิกและผลักดันการใช้มาตรการซีแอล) จะคอยติดตามประเด็นที่ถูกโจมตีทางหน้าหนังสือพิมพ์ และดูว่าประเด็นไหนต้องตอบโต้อย่างไร ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่พยายามประคับประคองความถูกต้องของข้อมูลให้ประจักษ์แก่สายตาประชาชนคนทั่วไป

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า การประชุม ครม.สัปดาห์ต่อมาภายหลังประกาศซีแอล ตนก็ถูกโจมตีในที่ประชุมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงอื่นอีก 2-3 คนที่ผสมโรงด่า

“เวลาครึ่งหนึ่งของการประชุม ครม.ในวันนั้นใช้ไปกับเรื่องนี้ คนที่ยกนิทานมาด่าชนิดไม่เกรงอกเกรงใจกันเลยคือรัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเคยสนิทกันมาก่อน แต่เขาต้องด่าผมเพื่อโชว์ออฟให้ต่างประเทศและให้บริษัทยารู้ว่าเขาไม่เห็นด้วย คำพูดเหล่านั้นเหมือนคำพูดของบริษัทยาในหน้าหนังสือพิมพ์ชัดๆ เลย ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นก็นั่งเฉยๆ คือมีแต่คนด่าแต่ไม่มีคนช่วย ยกเว้นท่านนายกฯ นี่คือสิ่งที่จำไม่ลืมเด็ดขาด ท่านนายกฯ ท่านช่วยแก้ให้หลายๆ เรื่อง แม้แต่เรื่องที่ว่า เราจะยอมให้คนของเราตายปีละ 5 หมื่นคนต่อไปอีกหรือ ท่านยังยืนยันในสิ่งเหล่านี้ ท่านยืนยันว่าการกระทำของ สธ. เป็นการทำเพื่อเห็นแก่คนที่ตายปีละ 5 หมื่นคนซึ่งเราไม่มีเงินไปซื้อยาแพงๆ มารักษา และบอกว่าเราต้องรับผิดชอบชีวิตประชาชนร่วมกัน” นพ.มงคล กล่าว

อย่างไรก็ดี ทาง สธ.ก็เห็นใจกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องไปแก้ต่างในเรื่องการทำซีแอลกับต่างประเทศ และ สธ.ก็ไม่ได้ปล่อยให้ทั้ง 2 กระทรวงไปสู้ตามลำพัง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ สธ.ตระเวนตามที่ต่างๆ เพื่อชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในฝรั่งเศส และ อเมริกา โดยไปที่ฝรั่งเศสก่อน เพื่อขอพบรัฐมนตรีสาธารณสุขของฝรั่งเศส ซึ่งพบหน้ากันยังไม่ทันพูดอะไร ทางรัฐมนตรีของฝรั่งเศสก็ด่าทันที จนด่าเสร็จ ทางไทยถึงได้ค่อยเริ่มชี้แจง

นพ.มงคล กล่าวต่อไปอีกว่า ตนไม่เคยเคยลืมเลยว่า ไม่ว่าจะไปชี้แจงที่ประเทศไทยก็ตาม “ทูตแสบ” หรือท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ซึ่งแม่นในข้อกฎหมายและเป็นคนที่ช่วยชี้แจงข้อกฎหมายให้ไทยชนิดที่ว่านักกฎหมายฝรั่งพากันเงียบหมด

“ตอนชี้แจงกับสำนักผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) คนที่ด่าอย่างเจ็บแสบที่สุดคือปลัดกระทรวงคนหนึ่ง เขาชี้หน้าผมแล้วบอกว่า You are the bad guy พวกเราก็ช่วยกันชี้แจง แล้วปิดท้ายด้วยทูตแสบ ท่านก็ถามดักทางเป็นระยะๆ ว่าประเด็นนี้ๆ มีข้อโต้แย้งไหม จนพูดจบ นักกฎหมาย USTR ในที่นั้นไม่มีใครโต้แย้งในเรื่องนี้เลย แล้วมาหายเจ็บใจตรงที่ตอนจะกลับ ผมก็ชี้หน้าปลัดกระทรวงคนนั้น แล้วก็บอกว่า You are the real bad guy (หัวเราะ)” นพ.มงคล กล่าว

ทั้งนี้ แม้ท่านทูตแสบจะทำประโยชน์อย่างเหลือหลาย แต่ก็จำได้ไม่ลืมเช่นกันว่าทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ช่วยอะไรคณะผู้แทนของ สธ.เลย เข้าใจว่าอาจจะอยู่ในอเมริกาต่อไม่ได้หากมาช่วย แต่อย่างน้อยก็น่าจะแสดงน้ำใจมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน ในการประชุม USTR ครั้งนั้น ก็มีเรื่องน่าประทับใจอยู่ด้วย โดยมีรัฐมนตรีของสหรัฐฯ คนหนึ่ง ได้เชิญตนไปพูดคุยกันนอกรอบก่อนจะเริ่มประชุม แล้วบอกว่า ไม่ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นระหว่างไทยกับ USTR แต่เขาเห็นด้วยกับเราเต็มที่ และขอให้ทำแบบนี้ต่อไปในการดูแลประชาชน

“การทำซีแอลมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมาก โดยเฉพาะในการประชุม ครม. ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งก็น่าจะมีแต่คนดีๆ คนที่เห็นแก่ประเทศชาติ แต่คนที่เข้ามาจากการแต่งตั้งมันก็ยังมีคนที่เห็นแก่พ่อค้า เห็นแก่บริษัทยา เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่ขณะนี้เรามีรัฐบาลจากการรัฐประหาร ก็จะมีนักกฎหมายบางคนที่ออกกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนก็ยังมีอยู่” นพ.มงคล กล่าวทิ้งท้าย