ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอศุภผล” แนะ “ทันตแพทยสภา” ฟังเสียงหมอฟัน ออกประกาศหลักเกณฑ์ศึกษาต่อเนื่อง สอดคล้องการทำงานหมอฟัน ทั้ง รพ.ห่างไกล และคลินิกเอกชน ใช้ช่องทางการศึกษาทุกช่องทาง รวมทั้งประสบการณ์รักษาผู้ป่วย เป็นองค์ความรู้ของการศึกษาต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการสะสมคะแนน เพื่อต่อใบอนุญาตได้ พร้อมย้ำ “ไม่มีใครค้านการศึกษาต่อเนื่อง” แต่ต้องเหมาะสม ไม่สร้างภาระและทุกข์หมอฟันเพิ่ม  

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี อดีตกรรมการทันตแพทยสภา และประธานมูลนิธิทันตแพทย์เอกชน กล่าวถึงกรณีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นประกาศหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทยสภา ว่า การกำหนดให้ทันตแพทย์ต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้ทันตแพทย์ทุกคนต้องมีการศึกษาต่อเนื่องนั้น เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่มีใครคัดค้านแม้แต่คนเดียว และเชื่อว่าทุกคนต่างเห็นด้วยหมด เพียงแต่จะกำหนดให้มีการศึกษาต่อเนื่องอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนแล้วจากวิชาชีพใกล้เคียงบางวิชาชีพ ที่ปรากฎว่าน้องๆ วิชาชีพนั้นๆ ต่างตกเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องหมด เนื่องจากต่างต้องทำงานหนัก ภาระงานมากจนไม่อาจปลีกตัวมาทำตามเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องได้ครบ ทำให้เกิดความทุกข์และกดดันเพราะไม่สามารถทำตามตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดอย่างละเอียดได้  

ดังนั้นทันตแพทยสภาจึงควรดูเป็นบทเรียนให้ดี และพิจารณาว่าจะกำหนดการศึกษาต่อเนื่องอย่างไรเพื่อให้ทันตแพทย์ทำงานอย่างมีความสุขและดูแลประชาชนได้จริง

"เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาต่อเนื่อง คือ การดูแลประชาชนได้จริง ไม่ใช่หรือ"  ทพ.ศุภผลกล่าว

ทพ.ศุภผล กล่าวต่อว่า ในการออกหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย โดยในการดูแลคนไทยกว่า 60 ล้านคน ด้านทันตกรรม ปัญหาใหญ่คือการป้องกันและรักษาโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์หรือรำมะนาด รวมถึงการดูแลรักษาฟันในผู้สูงอายุ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการการดูแลใกล้ชิดถูกต้องเหมาะสม ไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ทำให้ฟันสวยใสแบบดารา การทำรากฟันเทียมที่มีราคาแพงและเข้าไม่ถึง หรือเทคโนโลยีราคาแพง หรือการรักษาโดยหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์

อีกทั้งชีวิตจริงของทันตแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล คือการดูแลคนเหล่านี้ ดังนั้นการจัดทำหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องจึงต้องมีความสอดคล้องกับความเป็นจริง และการศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากได้ประโยชน์แท้จริง   

“การที่ทันตแพทยสภาจะจัดหลักเกณฑ์การศึกษาที่เหมาะสมได้ ทันตแพทยสภาต้องไม่ยืนบนหอคอยงาช้าง แต่ต้องดูว่าประชาชนส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคอะไร และทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงการรักษาได้ จึงจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงควรออกประกาศที่สอดคล้องกับการทำงานของทันตแพทย์ อย่างเช่น รพ.ห่างไกล ทันตแพทย์จะรักษาผู้ป่วยวันละ 80-100 คน แค่นี้ก็มากมายแล้ว ทั้งถอนฟัน ขูดหินปูน  ผ่าฟันคุด รักษาโรคติดเชื้อในปาก เจาะหนอง อุดฟัน  รวมทั้งการออกไปทำงานในชุมชน เป็นต้น ซึ่งทันตแพทย์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย ต่างก็มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ 5 ปี 10 ปี ทำอย่างไรให้การทำงานเหล่านี้ถือเป็นการศึกษาต่อเนื่องด้วย

ในที่นี้รวมถึงทันตแพทย์ที่ทำงานในคลินิกเอกชนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 52 ของทันตแพทย์ทั้งหมด ซึ่งเขาเหล่านี้ต่างทำงานดูแลประชาชนในท้องที่ ตามตรอกซอกซอยใกล้บ้าน บางคนทำงานจนถึง 2 ทุ่ม ทำอย่างไรให้ทันตแพทย์เหล่านี้สามารถนำเสนอประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยและนับเป็นการศึกษาต่อเนื่องได้ ไม่ใช่เพียงแต่การเข้าร่วมประชุมและอ่านหนังสือมา

อดีตกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาต้องถามว่าการจัดการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทยสภาล้มเหลวเพราะอะไร ล้มเหลวเพราะไปเน้นจัดประชุมใหญ่ จัดหัวข้อที่ห่างไกลเข้าถึงได้ยาก ค่าประชุมก็แสนแพง ทั้งยังต้องเดินทางไกลๆ ขาดแรงจูงใจ ขาดความใกล้ชิดกับสมาชิกทันตแพทย์ ฯลฯ ใช่หรือไม่   

ทพ.ศุภผล กล่าวว่า นอกจากนี้ควรเลิกนำคะแนนมาเป็นตัววัดคุณค่าความเป็นวิชาชีพ ความเป็นแพทย์ ความเป็นมนุษย์เสียที ไม่ควรนำเกณฑ์ 100 คะแนน เป็นเป็นเกณฑ์ตัดสินการต่อใบอนุญาต แต่ควรเปิดให้ทันตแพทย์ส่งผลงานการรักษาผู้ป่วยเพื่อบอกทันตแพทยสภาว่าเขาทำอะไร ซึ่งหากเขาทำไม่ถูกมาตรฐานวิชาชีพก็ควรแนะนำและบอกให้ปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ควรเปิดช่องทางสื่อสารและช่องทางการศึกษาทุกแขนงที่เกี่ยวข้องกับกากรดูแลผู้ป่วย ทั้งช่องทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา หรือกระทั่งศาสนา แบบนี้จึงจะเป็นการพัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์ พัฒนาตัวทันตแพทย์ ซึ่งเขาเหล่านี้จะนำประสบการณ์การศึกษาที่ได้จริง มาดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้เชื่อว่านายกทันตแพทยสภา รวมถึงกรรมการทันตแพทยสภามีความเข้าใจ เพียงแต่ที่ผ่านมามีบางสมาคมพยายามดึงดันเรื่องนี้ เพื่อที่จะผูกการศึกษาต่อเนื่องกับจรรยาบรรณและใบประกอบวิชาชีพ

“ในการจัดทำหลักเกณฑ์ประกาศการศึกษาต่อเนื่อง ไม่อยากให้ทันตแพทยสภาตั้งธงตามความคิดของตนเองไว้ล่วงหน้า แต่ควรต้องรับฟังให้มาก โดยเฉพาะจากเวทีรับฟังความเห็นที่จัดขึ้น ไม่ควรทำให้การศึกษาต่อเนื่องเป็นภาระต่อทันตแพทย์ ไม่ควรทำให้เกิดทุกข์กับผู้ประกอบวิชาชีพ แต่ควรทำให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งความสุขนี้จะส่งผลให้เกิดความสุขที่จะดูแลประชาชนต่อไป

ซึ่งแต่ก่อนไม่มีทันตแพทยสภา ทันตแพทย์ก็ต่างขวนขวายหาความรู้กันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีหมอฟันที่ไม่หาความรู้จริง แต่เป็นกลุ่มที่ใกล้เกษียณอายุหรือปลดเกษียณแล้ว ทั้งนี้ขอย้ำว่าไม่มีหมอฟันคนไหนที่คัดค้านการศึกษาต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมเท่านั้น”

ทพ.ศุภผล กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมามีเอ็นจีโอที่ขาดความรู้ ขาดข้อมูลที่แท้จริง ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้โดยไม่เข้าใจการทำงานของวิชาชีพ เหมือนฟังไม่ได้ศัพท์ก็จับมากระเดียด ซึ่งจะเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ เร่งไฟความไม่เข้าใจให้ขัดแย้งกันมากขึ้นไปอีก ซึ่งต้องขอย้ำว่าวันนี้ทุกวิชาชีพ ไม่แต่เฉพาะทันตแพทย์ ต่างมุ่งทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงอยู่แล้ว มิได้นิ่งนอนใจดังที่ NGO บางคนพยายามกล่าวหาเลย