ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รวมพลังชาวไทยแก้ปัญหา ‘ขยะ’ วิกฤตชาติแบบยั่งยืน เน้นจัดการตั้งแต่ต้นขั้ว สร้างจิตสำนึกร่วมคิดร่วมรับผิดชอบ ในฐานะของผู้ร่วมก่อขยะร่วมกัน

เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาขยะในเมืองไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤต เพราะไม่เพียงกลิ่นเหม็นที่รบกวนโสตประสาทของทุกคนแล้ว ขยะยังสร้างปัญหาที่ใครๆ อาจไม่คาดคิดอย่างเรื่องไฟไหม้ เช่นการที่เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะทั่วประเทศมากถึง 10-15 ครั้งต่อปี ข้อมูลนี้ยืนยันจากปากของผู้ที่ทำงานสิ่งแวดล้อมมานาน อย่าง ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ที่เอ่ยขึ้นในงานเสวนา ‘การลดปริมาณขยะยุค Thailand 4.0’ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ

“สถานการณ์ขยะมูลฝอยเวลานี้ คือ 1 คน ทิ้งขยะวันละ 1.11 กิโลกรัม เฉลี่ยปีละมีขยะ 27 ล้านตัน แต่สามารถกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะได้เพียง 8 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลือกลายเป็นขยะตกค้าง”

ด้วยปัญหาที่รุมเร้าหนักเสียขนาดนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบกพร่องหรือไม่ จากการวิเคราะห์จึงพบว่า ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องแก้ไขง่ายๆ เพราะมีอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของประชาชนและภาคเศรษฐกิจ พื้นที่จัดเก็บขยะซึ่งมีอยู่เท่าเดิมทำให้ไม่สามารถรองรับขยะที่เพิ่มขึ้น รวมไปงบประมาณเพื่อจัดการซึ่งขณะนี้สูงถึง 25,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว

แต่เรื่องที่ถือเป็นปัญหาหลักการขับเคลื่อน คือ ‘คน’ เพราะคนคือผู้ก่อขยะขึ้นมา ทว่าที่ผ่านมาหลายคนกลับมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของตนเองที่ต่อประเด็นนี้ และยังคิดว่าขยะเป็นธุระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องจัดการ จึงไม่ใส่ใจในการดูแล และลดขยะในครัวเรือน

“แต่เดิมเรารณรงค์เรื่อง 3R แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ขับเคลื่อนไปได้ก็คือ คน เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะใช้หลักการ 3R ก็ต้องเปลี่ยนเป็น ‘3R+1’ โดย R อีกตัวคือ Re-Think ซึ่ง Think คือคิด เพราะถ้าคนไม่คิด ก็ขับเคลื่อนไม่ได้” ผศ.ดร.บุญส่งขยายภาพความสำคัญของประชาชนในฐานะของผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการขยะ

แน่นอนเมื่อการจัดการของภาครัฐสามารถแก้ปัญหาได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ทางออกหนึ่งที่สากลยอมรับว่าได้ผลที่ยั่งยืนและคุ้มค่าคือ ‘การกำจัดขยะมูลฝอยตั้งแต่แหล่งกำเนิด’ ซึ่งการจะสร้างแนวปฏิบัตินี้ขึ้นมาก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบริบทบางอย่างในสังคมให้เป็นทิศทางเดียวเสียก่อน

ตั้งแต่นโยบายการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก เนื่องจากกส่วนใหญ่มักกำหนดความรับผิดชอบไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่หลังจากการพูดคุย ภาคประชาชนบางส่วนก็มองว่า ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าขึ้นมาแล้ว การแก้ปัญหาจึงต้องทำร่วมกันตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และชุมชน โดยสื่อมวลชนจะต้องรับบทบาทใหญ่ ในฐานะของทัพหน้าของการรณรงค์ รวมทั้งมีการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องขยะลงไปในการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สถาบันขั้นสูงสำหรับนักบริหาร เพื่อเกิดการความเข้าใจร่วมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใส่ใจ คือวิธีบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดการงบประมาณสำหรับเรื่องขยะมูลฝอย ต้องยอมรับความจริงว่าฝ่ายท้องถิ่นมีภารกิจงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่งบประมาณที่ส่วนกลางเทลงมาให้ยังจำกัดจำเขี่ย อีกทั้งการที่ต่างฝ่ายต่างทำงานไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องบูรณาการปัญหาร่วมกัน ทำให้การแก้ปัญหาสะเปะสะปะ ซึ่งภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่าต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนให้ชัดว่า ยิ่งลดขยะได้เท่าใด ก็ยิ่งลดสรรพกำลังในการจัดการขยะได้มากเท่านั้น

อีกทั้งต้องใช้มาตรการบางอย่างเข้ามาเสริม โดยยึดหลักใครสร้างขยะเยอะก็ต้องจ่ายค่าจัดการขยะมาก เพื่อให้ทุกครัวเรือนกลับไปจัดการขยะในบ้านก่อนที่จะปล่อยขยะให้เป็นภาระของส่วนกลาง รวมทั้งมีการสร้างฐานข้อมูลทางด้านสถิติในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับขยะสำหรับใช้เป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างมีทิศทาง โดยได้รับการติดตามและประเมินผลจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามที่วางไว้

เพราะอย่างที่ฉายภาพไว้ตั้งแต่ต้นว่า กุญแจของความสำเร็จคือ ‘คน’ และการมีส่วนร่วม หากทุกฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนอย่างแช่มจัดก็ย่อมจะเปลี่ยนสังคมแห่งอุดมคติให้กลายเป็นสังคมแห่งความจริงขึ้นมากได้

นอกจากการกระตุ้นจิตสำนึกของทุกภาคแล้ว กฎหมายก็ถือเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยให้จัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่แหล่งกำเนิดสามารถลุล่วงไปได้เร็วขึ้น โดยเวลานี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยฉบับใหม่แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรต่อยอดด้วยการจัดทำกฎหมายหรือข้อบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อการลดปริมาณขยะโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อีกทั้งเวลานี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นความจำเป็น จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาระดมความเห็นและจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะ/ร่างมติการลดปริมาณขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายให้แล้วเสร็จทันงานสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560

ส่วนในอนาคตฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรจะมีการขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิกฎหมายที่เกี่ยวกับการรับคืนบรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะ โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะ กฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า ที่คำนึงถึงการแปรสภาพของสินค้าเป็นขยะด้วย ซึ่งแน่นอนว่า กติกาทั้งหมดจะเขยื้อนได้เร็วขึ้น หากภาคประชาชนเองก็ต้องเข้ามามีบทบาทที่ชัดเจน ทั้งการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมผลักดัน และร่วมลงมือ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง