ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) หรือ “เซ็บเดิม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย 1-5% ในประชากรทั่วไป ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ไม่ติดต่อจาการสัมผัส แต่เป็นโรคที่มีผลต่อทางด้านจิตใจ ความมั่นใจและบุคลิกภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก 

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) หรือ “เซ็บเดิม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย 1-5% ในประชากรทั่วไป ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ไม่ติดต่อจาการสัมผัส แต่เป็นโรคที่มีผลต่อทางด้านจิตใจ ความมั่นใจและบุคลิกภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยลักษณะของโรคจะเกิดบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ ไรผม ข้างจมูก คิ้ว (บริเวณ T-Zone) บนใบหน้า หน้าอก เป็นต้น บริเวณดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นขุยสีเหลือง มันวาว ร่วมกับมีผื่นแดงร่วมด้วยลักษณะของโรค คือ 

1.ส่วนใหญ่เป็นกับผู้ป่วยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กทารกแรกคลอด สามารถพบโรคนี้ในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด ซึ่งสามารถหายได้เอง โดยสามารถพบสะเก็ดหนาสีเหลือง เป็นมันติดแน่นเป็นแผ่น เชื่อว่าการที่เกิดโรคนี้ในทารกเกิดจากฮอร์โมนจากแม่ที่ถ่ายทอดไปยังลูก ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นต่อมไขมันในผิวหนังที่หนังศีรษะ ทำให้หนังศีรษะและเส้นผมเป็นมันเยิ้ม แต่หลังจากนั้นอิทธิพลของฮอร์โมนจะเริ่มหมดไป ผื่นจึงดีขึ้นได้เอง แต่ในช่วงวัยรุ่น จะเกิดการที่เริ่มมีการผลิตฮอร์โมนเพศที่ไปกระตุ้นต่อมไขมันให้มีขนาดโตขึ้นและหลั่งไขมันออกมามากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค 

2.อาการที่เป็นจะเป็นๆ หายๆ ในผู้ใหญ่ แต่จะหายเองได้ในเด็กทารก มักจะสัมพันธ์กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น หน้าหนาว อากาศแห้ง ผื่นจะกำเริบได้บ่อยกว่า และอาจดีขึ้นในหน้าร้อน

3. อาการผู้ป่วยบางรายจะสัมพันธ์กับโรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น Parkinson’s, Alzheimer disease หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จะทำให้โรคนี้เป็นรุนแรงมากขึ้น 

สาเหตุของโรค ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่แพทย์เชื่อว่าปัจจัยต่าง ๆ มีผลต่อการเกิด โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน  คือ ภาวะใดๆ ที่กระตุ้นให้ให้ต่อมไขมันทำงานผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนการติดเชื้อราบางชนิด เช่น เชื้อ Malassezia species  ยาบางอย่าง เช่น griseofulvin, cimetidine, lithium,methyldopa หรือมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อีกทั้งรับประทานอาหารที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของโรคได้

การรักษา ในเด็กทารกส่วนมากหายได้เอง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง หรือมีการอักเสบเรื้อรัง อาจทาสเตียรอยด์ อ่อนๆ ที่บริเวณผื่น 2-3 วัน ร่วมกับการทาครีมบำรุงผิว สำหรับในผู้ใหญ่ ผื่นจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ การรักษาจะเน้นที่การควบคุมโรค มากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด ผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ศรีษะ แนะนำให้ใช้ยาสระผมที่มีส่วนประกอบของ  tar (น้ำมันดิน ) , zinc pyrithione , selenium sulfide, sulfur , salicylic acid ,  ketoconazole  เป็นต้น เพื่อลดรังแค ขุยที่หนังศรีษะ

ในคนไข้ที่ผื่นหนาอักเสบมาก อาจทายาสเตียรอยด์ร่วมด้วยได้ ผื่นแพ้ต่อมไขมัน ที่ใบหน้า ข้างจมูก คิ้ว แนะนำให้ใช้ยามีฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนัง หรือลดจำนวนเชื้อรา เช่น ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาทาลดเชื้อยีสต์ สำหรับยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เป็นสิว ผิวบาง เส้นเลือดขยาย และติดสเตียรอยด์ได้ 

ดังนั้น โรคนี้แม้เป็นโรคไม่ติดต่อ แต่ก็ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อการควบคุมโรคและการรักษาที่ตรงจุด ป้องกัน และลดข้อแทรกซ้อนจากยา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเอง เพื่อลดการเห่อ หรือ กำเริบของโรค คำแนะนำในการดูแล คือ หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แสงแดด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น รวมทั้ง ควรล้างหน้าด้วยสบู่ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิว หมั่นทาครีมบำรุง ดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ใช้เครื่องสำอางชนิดที่เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย เพียงแค่นี้โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอักเสบก็จะไม่มากวนใจอีก