ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ซิสเตอร์ลักขณา สุขสุจิตร ศูนย์บ้านศรีชุมพาบาลเพื่อผู้หญิงและเด็กภูเก็ต เล่าย้อนไปถึงที่มาของการทำงานกับเด็กและสตรีในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า เกิดจากเห็นปัญหาเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการดูแลสุขอนามัย ซึ่งตรงนี้จะทำให้มีผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อสังคมไทยเอง การช่วยเหลือ 2 สิ่งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือสังคมไทยในทางอ้อมนั่นเอง

ซิสเตอร์ลักขณา สุขสุจิตร

“แรงงานข้ามชาติในภูเก็ต โดยเฉพาะที่เข้ามาทำงานในกลุ่มชาวประมง ซึ่งจะเจอปัญหาค่อนข้างเยอะ จึงต้องช่วย จุดเริ่มมาจากตรงนี้ ปัญหาอันแรกที่เราเห็นคือเด็กที่ไม่มีการศึกษา ทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพอนามัยที่ดูไม่ดี เพราะว่าสถานที่ๆ เค้าอยู่ไม่ถูกสุขอนามัยเท่าที่ควร มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นหลัก ป่วยกันเยอะ พ่อแม่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และหาเงินไม่พอกับการเลี้ยงดูและส่งเสียเรื่องการศึกษา”

ซิสเตอร์ลักขณา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งเรื่องของสุขภาพและการศึกษา เราต้องมองไปที่ต้นตอของปัญหา คือ พ่อแม่ ทางซิสเตอร์และทีมงานจะต้องเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่ยอมให้ลูกไปเรียนหนังสือ เราจะต้องชี้ให้เขาเห็นถึงปัญหาในอนาคตหากลูกของเขาไม่ได้รับการศึกษา เด็กจะเข้าสังคมได้ลำบาก เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้ สื่อสารกับใครก็ไม่ได้ จะทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ถูกหลอกสารพัดอย่าง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะเน้นให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาเป็นหลัก แต่เราก็รู้ว่า เด็กเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการศึกษาได้นั้นเนื่องจากเด็กๆ ไม่มีเอกสารที่จะระบุตัวตนของตัวเองได้ หรือบางกรณีพ่อแม่หลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เป็นต้น

เริ่มแรกเราเปิดโรงเรียนอยู่ที่แคมป์คนงาน โดยขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ โดยใช้พื้นที่ไม่มาก ต่อพอภายหลังเริ่มมีเด็กมาเรียนมากขึ้นเลยต้องย้าย เราเลยมาซื้อที่และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาลจนถึงปัจจุบัน ในเดือนมกราคมปี 2560 มีเด็กเพิ่มมากอีก 167 คน แบ่งเป็นการเรียนใน 2 ระดับ คือ เด็กเล็กและประถม โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรไทยและพม่า ซึ่งจะแบ่งระดับการศึกษาเป็นเกรดเหมือนโรงเรียนนานาชาติ

ที่นี่เราจะสอนทั้งภาษาไทย อังกฤษ และพม่า เพราะทั้ง 3 ภาษานี้มีความสำคัญต่อเด็กในอนาคต ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในปะเทศไทย พม่า หรือประเทศอื่นๆ โดยมีครูและเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งหมด 14 คน ส่วนครูที่สอนภาษาอังกฤษส่วนมากเป็นอาสาสมัคร โดยทางโรงเรียนจะขอให้ผู้ปกครองร่วมสนับสนุนค่าอาหารกลางวันคนละ 10 บาท ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คน /วัน จะมีค่าใช้จ่ายจริงประมาณ 30 บาท รายส่วนหนึ่งจึงมาจากการบริจาค

“ผลที่ได้เมื่อเด็กได้รับการศึกษามากขึ้นคือ เด็กมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก ยิ่งเวลาที่เจอตำรวจเด็กกล้าที่จะพูดโต้ตอบได้ไม่กลัว ซึ่งผิดกับเมื่อในอดีต เมื่อเด็กๆ เจอตำรวจจะหนี เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา และการอบรมที่ดี ซึ่งมันจะส่งผลดีต่างๆ ต่อตัวเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานต่างด้าวมากที่สุด คือ ความปลอดภัย” ซิสเตอร์ลักขณา กล่าว

ขณะที่ปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยนั้น ซิสเตอร์ลักขณา กล่าวว่า นโยบายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่กระรทวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่ช่วยได้เยอะ ซึ่งตรงนี้คนไทยอาจจะคิดว่าทำไมต้องไปช่วยเหลือคนชาติอื่น แต่สิ่งที่เราควรมองคือโรคไม่มีพรมแดน ภาครัฐจำเป็นต้องออกแบบระบบให้ควบคุมได้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย และท้ายที่สุดก็ไม่พ้น รพ.เองที่ต้องแบกรับภาระเพราะไม่สามารถปฏิเสธการรักษาตามหลักสิทธิมนุษชนได้

สิ่งที่ซิสเตอร์ลักขณา ภูมิใจมากที่สุดในวันนี้ คือการได้เห็นเด็กๆ ลูกของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ และสามารถได้รับการศึกษาในขั้นที่สูงต่อไปได้เมื่อเขามีโอกาสได้กลับสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของพ่อแม่ ซิสเตอร์ลักขณาเชื่อเสมอว่า การศึกษาทำให้เด็กฉลาดขึ้น และไม่ถูกหลอกได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กต่างด้าวที่ต้องมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง