ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด กทม.เสนอ “หมอปิยะสกล” ดึง กทม.ร่วม คกก. 7x7 พร้อมตั้ง คกก. 5x5 เขต 13 กทม. เหมือนกับพื้นที่อื่น แก้ปัญหาระบบสุขภาพสอดคล้องภาพร่วมประเทศ พร้อมเตรียมชง บอร์ด สปสช.ปรับหลักเกณฑ์กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ สอดคล้องบริบท กทม. หลังสภา กทม.อนุมัติงบ 160 ล้านบาท พร้อมขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพื้นที่กรุงเทพฯ    

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวนำเสนอปัญหาการจัดระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ กทม.ต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในระหว่างตรวจเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุข 59 กทม.ที่ผ่านมา ว่า ในการเข้าร่วมจัดกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินงานในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่ง สปสช.ได้มีบันทึกเพื่อให้ กทม.เข้าร่วมในปี 2557 แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์การดำเนินกองทุนที่ สปสช.กำหนดไม่สอดคล้อง โดย กทม.เป็นท้องถิ่นปกครองพิเศษที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ ที่พื้นที่ซึ่งมีประชากรสูงสุดมีเพียงแค่ 40,000 คน ขณะที่ กทม.มีเป็นประชากรกว่า 10 ล้านคน ทั้งยังเป็นนิติบุคคลที่แยกไม่ได้ ดังนั้นหากจะเข้าร่วมต้องมีการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไงให้มีความสอดคล้อง  

และในปี 2560 นี้ สปสช.ได้เตรียมงบประมาณ 45 คนต่อประชากร จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อให้ กทม.ดำเนินการเรื่องนี้ ขณะที่สภากรุงเทพมหานครได้ผ่านอนุมัติงบประมาณสมทบแล้วอีกจำนวน 160 ล้านบาท โดยจะมีงบประมาณรวมกองทุนทั้งสิ้น 400 ล้านบาท ซึ่งการจะเดินหน้ากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในพื้นที่ กทม.ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธิการดำเนินงานที่ต้องสอดคล้อง และอาจต้องปรับวิธีการบริหารเป็น 50 เขต

โดยหลักเกณฑ์เหล่านี้ยังต้องมีความชัดเจนเพื่อให้คนทำงานได้มั่นใจ เนื่องจากงบประมาณเหล่านี้มาจากภาษีประชาชน การตรวจสอบจึงเข้มงวดและไม่อยากให้มีการนำเงินกองทุนมากองรวมไว้ที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่ง กทม.จะนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. ให้ปรับเหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่สอดคล้องกับบริบทของ กทม.ต่อไป

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า นอกจากนี้จากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.ระดับประเทศ (คกก. 7x7) และระดับพื้นที่ (คกก.5x5) คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะเป็นประโยชน์ต่อ กทม.อย่างมาก หากมีผู้แทนจาก กทม.เข้าร่วม คกก.7x7 และให้มีการจัดตั้ง คกก. 5x5 ในพื้นที่เขต 13 กทม. เขตเดียวกับเขตอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินระบบบริการสุขภาพของ กทม.เดินไปพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลสุขภาพประชาชน 

ส่วนที่เป็นปัญหาอย่างมากในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ คือการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนใน กทม. 8 แสนคน แต่ข้อเท็จจริงมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาโดยผิดกฎหมายไม่มีการขึ้นทะเบียน ส่งผลต่อปัญหาการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาโรคติดต่อ ซึ่งวัณโรคเป็นปัญหาสำคัญที่มีการแพร่ระบาดและตรงนี้ กทม.ไม่สามารถเบิกจ่ายงบจาก สปสช.ได้ เพราะไม่ได้เป็นคนไทย โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมดูแลปัญหาได้หมด

พญวันทนีย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการดำเนินนโยบายหมอครอบครัว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขใช้เกณฑ์แพทย์ 1 คนต่อประชากรพื้นที่ 1 หมื่นคน ตรงนี้ยังขาดอีกมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอโค้วต้าแพทย์ใช้ทุน รพ.วชิระ ซึ่งเป็น รพ.มหาวิทยาลัยในสังกัด กทม.ให้มาทำงานที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ซึ่งจะทำให้ กทม.มีอัตรากำลังแพทย์ในการทำงานนี้ และยังเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นได้หากทำสำเร็จ

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ กทม.เสนอมีตัวแทนร่วม คกก.7x7 และ 5x5 ว่า เท่าที่ดูนโยบายของ กทม.และ สธ.นั้นคล้ายกัน โดยเน้นการดูแลประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในส่วนของ คกก.7x7 ของ สธ.และ สปสช.หากมีผู้แทน กทม.เข้าร่วมก็ควรมีการปรับโครงสร้างให้ดึง กทม.เข้ามาด้วย เพื่อที่จะได้ดำเนินการไปพร้อมกันในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ควรมีการตั้ง คกก.5x5 ในพื้นที่เขต 13 กทม. ให้เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด