ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลแพร่ (โรงพยาบาลทั่วไปขนาด 500 เตียง) เพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่จะมีผู้ป่วยตั้งแต่เจ็บไข้เล็กน้อยไปจนถึงขั้นสาหัสรุนแรงเข้ามารับบริการ และนั่นเองส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาความแออัด

"โรงทางมือ" เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่มีผู้ป่วยเข้ามากระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลแพร่ ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามารับการรักษา-ผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยยังอาจได้รับการบริการที่ไม่คล่องตัว เนื่องด้วยโรงพยาบาลแพร่ไม่มีห้องผ่าตัดขนาดเล็ก

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในภาพกว้างจะพบว่าใน จ.แพร่ มีโรงพยาบาลชุมชนกระจายตัวอยู่อย่างครอบคลุม ที่สำคัญคือโรงพยาบาลเหล่านั้นมีห้องผ่าตัดแต่กลับใช้งานน้อย และบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด

ด้วยความเหมาะเจาะที่สอดรับกันของปัญหาและหนทางที่นำไปสู่ทางออก โรงพยาบาลแพร่จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ (สสจ.แพร่) ดำเนินโครงการ "ผ่าตัดสัญจรผู้ป่วยโรคทางมือ" ซึ่งเป็นการจัดระบบบริการเครือข่าย โดยให้ทีมผ่าตัดจากโรงพยาบาลแพร่ออกไปผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชน

หัวใจของโครงการคือ มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน

นำไปสู่การลดขั้นตอนการรอคอยของผู้ป่วย และลดปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่

สำหรับวิธีการดำเนินงาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ขั้นตอน เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายทีมผ่าตัดเล็กโรงพยาบาลแพร่และโรงพยาบาลชุมชน จากนั้นก็ฟื้นฟูความรู้และส่งเสริมทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคทางมือในโรงพยาบาลชุมชน

ประการต่อมาก็คือพัฒนาบุคลากร โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชนมาศึกษาดูงานการผ่าตัดโรคทางมือที่ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลแพร่ ก่อนจะจัดซื้อเครื่องมือและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาที่ใช้ในการผ่าตัด และทำการออกหน่วยให้บริการในโรงพยาบาลชุมชน 6 แห่ง และลำดับสุดท้ายก็คือการประเมินโครงการและรายงานผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบขั้นตอนในการให้บริการก่อน-หลัง ดำเนินโครงการ "ผ่าตัดสัญจรผู้ป่วยโรคทางมือ" พบว่าโครงการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วขึ้น โดยตลอดกระบวนการรักษาตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยไปจนถึงตรวจหลังการผ่าตัด ใช้เวลาเพียง 3 วัน จากเดินที่ต้องใช้ถึง 5 วัน

ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนแล้วถึง 281 ราย โดยส่วนใหญ่มีอาการนิ้วล๊อคและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Trigger finger ซึ่งคิดเป็น 42.7% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดทั้งหมด

จากสถิติผู้รับการผ่าตัดโรคทางมือในโรงพยาบาลแพร่ ชัดเจนว่าโครงการฯ ช่วยลดความแออัดของห้องตรวจและห้องผ่าตัดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในปี 2556 2557 เทียบเคียงกับปี 2558 2559 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด 110 109 30 และ 21 ราย ตามลำดับ

สำหรับผลจากการดำเนินงาน พบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก 98.33% ภาวะแทรกซ้อนแผลแยกเล็กน้อยทำแผลต่อหายเป็นปกติ

เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนผลได้แล้ว พบว่าโครงการฯ มีต้นทุนภายใน 434,909 บาท ต้นทุนภายนอก 295,050 บาท แต่ได้ผลได้ทางตรงถึง 1,083,872 บาท และผลได้ทางอ้อมถึง 550,230 บาท

โครงการ "ผ่าตัดสัญจรผู้ป่วยโรคทางมือ" ฉายภาพความสำเร็จตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการคว้ารางวัลชนะเลิศ Oral presentation การประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จ.แพร่ ประจำปี 2558 รางวัลชนะเลิศ Oral Presentation งานมหกรรมคุณภาพโรงพยาบาลแพร่ “Lean and Seamless Health Care”ประจำปี 2559

รางวัลรองชนะเลิศ Poster Presentation นิทรรศการ “คุณภาพทุกลมหายใจ” HA National Forum ครั้งที่ 17 ประจำปี 2559 เมืองทองธานี และผลงานวิชาการสาธารณสุขระดับดีเด่น Poster Presentation ประชุมวิชาการสาธารณสุข 2559 ที่หาดใหญ่

เรียบเรียงจาก โครงการผ่าตัดสัญจร จ.แพร่ โดย (นพ.ยอดปิติ ตั้งตรงจิตร โรงพยาบาลแพร่ และ เยาวเรศ เสนาธรรม โรงพยาบาลแพร่) 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง