ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการซึ่งประสบความยากลำบากในการเข้ารับบริการสาธารณสุข บุคคลกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ภาวะซึมเศร้านั้นมีโอกาสพัฒนาไปเป็น “โรคซึมเศร้า”ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทำร้ายตนเอง ซึ่งผู้ดูแลจำต้องตระหนักถึงภาวะอันตรายดังกล่าว

หากจะทำความรู้จักกับภาวะซึมเศร้าอย่างเข้าใจนั้น จะพบว่าภาวะซึมเศร้าคือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง อาการหลักๆ คือผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเศร้าหรือทั้งสองอย่าง โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกินการนอน เรี่ยวแรง สมาธิ รวมถึงความรู้สึกที่มีต่อตัวเองร่วมด้วย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถ้าเป็นไม่มากนักอาจเข้าข่าย “ภาวะซึมเศร้า” แต่หากมีอาการมากและกินระยะเวลานานก็สามารถพัฒนากลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่ดีเหมือนเดิม และบางรายที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดหวัง อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

สำหรับประเทศไทย จากการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในปี พ.ศ.2556 พบว่ามีผู้สูงอายุที่เข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 33 แต่ผู้สูงอายุในชุมชนที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ มีประมาณร้อยละ 6 รายงานของ ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะที่เสนอต่อสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2559 พบว่ามีผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนร้อยละ 23 ของผู้สูงอายุที่รับการรักษาในโรงพยาบาล 4 แห่ง ซึ่งมีแผนกจิตเวช และรายงานวิจัยของ ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะ ที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ยังพบว่ามีผู้สูงอายุไทยในบ้านพักคนชราที่เป็นโรคซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 23

สำหรับอาการของภาวะซึมเศร้า จะสังเกตได้ว่ามีอาการเหล่านี้  ได้แก่

รู้สึกเบื่อหน่าย หมายถึง ผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่าย สนใจสิ่งต่างๆ น้อยลงหรือหมดความสนใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่เบิกบานห่อเหี่ยว หดหู่ หรือเซ็ง

รู้สึกเศร้า หมายถึง ผู้สูงอายุจะเศร้าโศกเสียใจง่าย น้อยใจง่าย ร้องไห้ง่าย รวมถึงมักรู้สึกท้อใจ

พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลง ผู้สูงอายุจะนอนไม่หลับหลับๆ ตื่นๆ ตื่นเช้ากว่าปกติ หรืออาจนอนมากขึ้น หลับทั้งวันทั้งคืน นอนขี้เซา

พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง เบื่ออาหาร หรืออาจกินจุขึ้น ของที่เคยชอบกินกลับไม่อยากกิน หรือบางรายอาจอยากกินของที่ปกติไม่กิน เช่น ของหวานๆ

การเคลื่อนไหวของร่างกายเปลี่ยนแปลง หมายถึง ผู้สูงอายุอาจเคลื่อนไหวเชื่องช้าลงหรือเคลื่อนไหวมากขึ้น กระวนกระวาย

กำลังกายเปลี่ยนแปลง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย กำลังวังชาลดน้อยถอยลง รู้สึกไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเดิม ไม่ค่อยมีแรง บางรายอาจบ่นเกี่ยวกับอาการทางร่างกายหลายอย่างที่ตรวจไม่พบสาเหตุ หรือมีอาการมากกว่าอาการปกติของโรคนั้นๆ

ความรู้สึกต่อตนเองเปลี่ยนแปลง  รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง คิดว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน ไม่มีความสามารถเหมือนที่เคยเป็น ความภาคภูมิใจในตนเองลดลงอับจนหนหาง หมดหวังในชีวิต

สมาธิและความจำ บกพร่อง หลงลืมบ่อย โดยเฉพาะลืมเรื่องใหม่ๆ ใจลอย คิดไม่ค่อยออก มักลังเลหรือตัดสินใจผิดพลาด

ทำร้ายตัวเอง ผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการมากๆ อาจรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป บางรายจะคิดหรือพูดถึงความตายบ่อยๆ นึกอยากตาย และอาจวางแผนทำร้ายร่างกาย เช่นเตรียมสะสมยาจำนวนมากๆ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ จากนั้นอาจลงมือทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กินยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า แขวนคอ หรือใช้อาวุธทำร้ายตนเอง ผู้สูงอายุบางรายอาจไม่ยอมกินยาประจำตัวเพื่อปล่อยให้อาการทรุดลงจนเสียชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะซึมเศร้านับว่าเปิดประตูไปสู่โรคภัยอื่น อาทิเช่น โรคสมองเสื่อมตามหลังภาวะซึมเศร้า กล่าวคือ ผู้สูงอายุรายใดที่อยู่ในภาวะซึมเศร้านานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ และหลังจากผ่านไปเพียง 1-2 ปี บางรายก็เริ่มมีอาการของโรคสมาธิความจำเสื่อมในระยะเริ่มแรก และต่อมาอาจยิ่งรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ รวมถึงอาการโรคจิตเข้าแทรกซ้อน กว่าร้อยละ 25 ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้ามากๆ อาจมีอาการของโรคจิตเข้าแทรกซ้อน เช่น หวาดระแวงว่าภรรยาหรือสามีนอกใจ กลัวคนมาทำร้ายหรือขโมยของ หูแว่ว เห็นภาพหลอน โทษตัวเองเกินความจริง หรือรู้สึกผิดมากๆ

ด้วยเหตุที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ยิ่งทำให้ภาวะซึมเศร้าเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงวัย ด้วยเหตุนี้ ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุจึงควรมีทักษะและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อันได้แก่ การประเมินลักษณะอาการ การค้นหาและคัดกรอง การดูแลเบื้องต้นหรือการดูแลควบคู่กับแผนการรักษาของแพทย์ การประเมินภาวะแทรกซ้อน และการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้จำเป็นต้องใส่ใจและเห็นความสำคัญของปัญหาในผู้สูงอายุเพื่อการดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิด

เก็บความจาก

ศ.พญ.ณหทัย วงศ์ปการันย์ และคณะ. คู่มือการดูแลผู้สูงวัย: สูตรคลายซึมเศร้า. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), 2559.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง