ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย ผลหารือสำนักงบฯ หลัง หมอปิยะสกล นำทีมผู้บริหาร สปสช.ถกงบบัตรทอง ได้รับเพิ่ม 500 ล้านบาท เฉลี่ยเพิ่ม 10.5 บาทต่อประชากร พร้อมให้เฝ้าระวังสถานการณ์กองทุนบัตรทองต่อเนื่อง ระบุหากงบไม่เพียงพอ ให้นำเสนอของบอุดหนุนเพิ่มเติม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงบประมาณได้ปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 จากที่ บอร์ด สปสช.ได้นำเสนอ 141,916 ล้านบาท เหลือเพียง 128,533 ล้านบาท โดยถูกปรับลดไปกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 274 บาทต่อประชากรนั้น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้นำทีมผู้บริหาร สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนงบประมาณที่ถูกปรับลดเป็นจำนวนที่มากเกินไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนได้

ทั้งนี้จากผลการเจรจา สำนักงบประมาณจะเพิ่มเติมงบประมาณในส่วนของสิทธิประโยชน์ใหม่ 3 รายการ จากที่ลดทอนไปก่อนหน้านี้ คือ 1.การคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกลุ่มเสี่ยง อายุ 50 ปีขึ้นไป 2.วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และ 3.ค่าบริการสาธารณสุขกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Emergency Claim Online: EMCO) ที่มีการจัดทำราคาค่าใช้จ่ายตามรายการ (Free schedule) โดยได้รับงบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 500 ล้านบาท หรือได้รับเพิ่ม 10.5 บาทต่อประชากร  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากผลการหารือนี้ต้องบอกว่าเราพอใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความกังวลต่อผลกระทบจากงบประมาณที่ถูกตัดและหายไปกว่า 1.3 หมื่นล้าน โดยยังคงยืนยันการคำนวณต้นทุนการบริการภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงบประมาณก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง โดยหลังจากนี้ สปสช.คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างใกล้ชิด และประสานกับสำนักงบประมาณในการรายงานต่อนายกรัฐมนตรี หากจำเป็นคงต้องเสนอของบประมาณเพื่ออุดหนุนระบบเพิ่มเติม ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้รับในเรื่องนี้เพื่อนำเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรี

“ผลจากการหารือต้องบอกว่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยเราเข้าใจสถานการณ์และข้อจำกัดของงบประมาณประเทศ แต่ยังกังวลในเรื่องภาระงานและต้นทุนการบริการ ทั้งจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น การปรับอัตราค่าครองชีพ และในปี 2561 นี้ กองทุนฯ ยังถูกหักเงินเดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 2% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่ง สปสช.คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์งบประมาณกองทุนอย่างใกล้ชิด” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบบัตรทอง ปี 61 จ่อถูกหั่นกว่า 1.3 หมื่นล้าน ‘หมอปิยะสกล’ เตรียมหารือ ‘นายกฯ’ แก้ปัญหาด่วน

ติงสำนักงบฯ ควรยึดมติบอร์ด สปสช.หั่นเงินบัตรทอง อย่าตัดบริการเดิม