ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.ประชุมคณะกรรมการกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (2005) 18 หน่วยงาน เตรียมรับการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศของประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกในช่วงกลางปีนี้ ลดความเสี่ยงประชาชนจากโรคระบาดและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2558 (2005) ครั้งที่ 1/2560 ว่า การประชุมนี้ เป็นการประสานงานเบื้องต้นกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมรรถนะด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (International Health Regulations: IHR) เพื่อเตรียมการรับการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศของประเทศไทย ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งกฎเกณฑ์ของตัวชี้วัดมีการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการกฎอนามัยระหว่างประเทศขึ้น และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการร่วมกับ 18 กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ กำกับ ดูแล การพัฒนาศักยภาพด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทย ให้ได้ตามมาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2550 ลดความเสี่ยงของประชาชนจากโรคระบาดและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมา จะให้แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกทำการประเมินผลการพัฒนาสมรรถนะ โดยการประเมินตนเอง (self evaluation) ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ผลการประเมินในปี 2557 ไทยเป็น 1 ใน 74 ประเทศจาก 196 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ที่ผ่านการประเมิน

 อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินใหม่ โดยเพิ่มจำนวนตัวชี้วัด เพิ่มประเด็นและมาตรฐานการวัดให้สูงขึ้น และกำหนดให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอกประเทศ (Joint External Evaluation หรือ JEE) ที่มาจากองค์การอนามัยโลก มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 58 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น 19 ประเด็นย่อย เช่น กฎหมายหรือนโยบาย การประสานงาน การเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นต้น 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนางานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2558 สำหรับช่วงปี พ.ศ.2560 – 2564” แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคติดต่ออันตรายและภัยสุขภาพที่อาจนำไปสู่ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศได้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาระบบการตรวจจับโรคและภัยสุขภาพให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อเฝ้าระวังและตรวจจับสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ดำเนินการควบคุมโรคและภัยสุขภาพอย่างรวดเร็ว เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเพื่อควบคุมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาและปรับปรุงระบบสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการ เพื่อให้มีระบบสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการที่ดี สามารถสนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ