ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ป่วยฉุกเฉินยังวุ่น ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินก่อนกว่าแสนบาท แม้เข้าเกณฑ์ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ รพ.ไม่ยอมเบิกจากโครงการ ข้องใจเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่มีเกณฑ์ควบคุมหรืออย่างไร

ขณะนี้ยังมีประเด็นที่แก้ไม่ตกในเรื่องนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฟรีทุกที่ดีทุกสิทธิ ที่ยังมีปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วยวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง ล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจาก น.ส.วิมลทิพย์ เจริญสุวรรณชื่น ญาติของผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านหัวหมาก ใน 72 ชั่วโมง กว่า 1 แสนบาท

น.ส.วิมลทิพย์ กล่าวว่า เหตุเกิดเมื่อคุณแม่ อายุ 84 ปี ได้ล้มลงช่วงตี 4 กระดูกหัก ขณะนั้นพยายามโทรไปยังโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งย่านพระราม 6 แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสายจึงตัดสินใจโทรไปยังโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านย่านหัวหมาก เพื่อให้นำรถมารับที่บ้าน รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นมารับภายใน 10 นาที และได้นำแม่เข้าห้องไอซียู ต้องมีการผ่าตัดอีก 

"ขณะนั้นด้วยความที่เป็นลูกเราก็ตกใจ ไม่ได้คิดถึงเรื่องว่าเข้าเกณฑ์นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนให้ทำอะไรเราก็ทำ โดยภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน โรงพยาบาลก็บอกให้เราไปจ่ายเงินก่อนกว่าแสนบาท จากนั้นก็ยังอยู่ในโรงพยาบาลอีก โรงพยาบาลไม่ได้แจ้งว่าคือกรณีฉุกเฉินหรือไม่ พอแม่เริ่มดีขึ้น เริ่มมีคนบอกว่าควรลองติดต่อถามเรื่องสิทธิดู ได้โทรสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสิทธิบัตรทอง”

"สปสช.ได้สอบถามและติดต่อไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น ปรากฏว่าเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินและ สปสช.บอกว่าให้โรงพยาบาลทำเรื่องตั้งงบมา ให้จ่ายเงินแก่ผู้ป่วยไป แต่โรงพยาบาลไม่ยอม จนบัดนี้เราก็ยังไม่ได้เงินคืน สงสัยว่าต้องทำอย่างไรอีก เพราะ สปสช.ประสานให้อยู่ แต่เห็นว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนไม่มีเกณฑ์ควบคุมหรืออย่างไร อยากขอร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ช่วยเหลือด้วย เพราะเข้าใจว่ายังมีอีกหลายกรณีที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้" น.ส.วิมลทิพย์กล่าว

ด้าน นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ทางสบส.เข้าใจดี แต่ในส่วนที่จะดำเนินการเอาผิดกับโรงพยาบาลเอกชนที่เก็บเงินเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงนั้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ป่วยอยู่ในข่ายวิกฤตสีแดงหรือไม่ ซึ่งจากข่าวที่ปรากฎพบว่ามีโอกาสเป็นเช่นนั้น แต่ปัญหาคือ ยังไม่มีกฎหมายไปบังคับใช้ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการขอความสมัครใจกับทางโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้ร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นกฎกระทรวง 3 ฉบับ โดย 2 ฉบับแรกเหลือเพียงเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า ฉบับแรก เป็นประกาศประเภทของเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง ว่ามีอะไร อย่างไร และฉบับที่ 2 เป็นข้อบังคับ หากผู้ป่วยมาด้วยอาการวิกฤตสีแดง ซึ่งเป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนด รพ.นั้นๆทั้งรัฐและเอกชนจะต้องรักษาให้พ้นวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง จากนั้นจึงต้องส่งต่อไปยัง รพ.ตามสิทธิของผู้ป่วย หากไม่ดำเนินการหรือเก็บเงินผู้ป่วยจะมีความผิดตามกฎหมายทันที ปรับ 40,000 บาท หรือจำคุก 2 ปี ส่วนฉบับที่ 3 เป็นประกาศค่าใช้จ่าย โดยอิงข้อมูลจาก สพฉ. กำหนดราคาค่าใช้จ่ายตามรายการที่ปรากฎจริง (อาการผู้ป่วย) ในอัตราการชดเชยสำหรับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะมีเป็นรายงานที่ตกลงร่วมกันระหว่าง สพฉ.และ รพ.โดยจัดเป็นราคากลางขึ้น ซึ่งกรณีนี้ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้มอบนโยบายให้ประกาศใช้ภายในเดือนเมษายนนี้ 

"ส่วนกรณีที่มี รพ.เอกชนย่านหัวหมากเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่า มีการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯหรือไม่ อย่างราคาที่แจ้งต่อผู้ป่วยและญาติ แต่มีการเก็บเงินเกินจริงหรือไม่ หากมีก็ถือว่าผิดมีโทษจำคุก 1 ปีและปรับ 20,000 บาท" นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง