ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แจงโรคไข้ดำแดงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายโรคติดต่อ ขอความร่วมมือสถานศึกษา โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้ดำแดง หลังต้นปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 200 รายแล้ว ผู้ป่วยร้อยละ 92 เป็นเด็กอายุ 1–14 ปี เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เน้นสังเกตอาการของโรค ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะคือเป็นผื่นคล้าย “กระดาษทราย”

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง และมีการหยุดเรียนในบางชั้นเรียน นั้น กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่หลังจากได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวทันที โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยให้โรงเรียนคัดกรองเด็กทุกเช้า ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคและสังเกตอาการของบุตรหลานใกล้ชิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ และของเล่นต่างๆ

สำหรับโรคไข้ดำแดง นั้น ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ “สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ” ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น คออักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคไข้ดำแดงในปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-16 ก.พ. 2560 มีผู้ป่วยแล้ว 243 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 1-14 ปี ถึง 224 ราย หรือร้อยละ 92 ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,527 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า โรคไข้ดำแดงมักจะเกิดในเด็กอายุระหว่าง 2-8 ปี แต่กลุ่มอายุอื่นๆ ก็สามารถเกิดได้เช่นกัน อาการของโรคจะเริ่มจากมีอาการไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตามลําคอ รักแร้ ลําตัว แขนหรือขา ลักษณะของผื่นเมื่อสัมผัสจะคล้ายกระดาษทราย ใบหน้าแดง ริมฝีปากซีด และอาจมีปื้นขาวที่ลิ้น ซึ่งภายหลังจะลอกออกทําให้ลิ้นมีลักษณะบวมแดง 
ส่วนการติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอยู่หรือหายใจเอาละอองฝอยที่ติดเชื้อเข้าทางระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อผ่านการรับประทานอาหารก็พบได้แต่น้อย
ส่วนการป้องกันโรค มีดังนี้

1.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ  

2.​หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้ดำแดง  

3.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้ป่วย  

4.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า เครื่องนอน เป็นต้น  

5.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ หรือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย

6.หลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะจมูกปาก 

7.หากพบเด็กป่วยควรแยกออกจากเด็กปกติทันที

และ 8.หากพบผู้ป่วยหลายคนควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน 

หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422