ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ป่าตองกระทุ้งรัฐหาแนวทางชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับลูกแรงงานข้ามชาติที่คลอดแล้วถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล หวั่นอนาคตจะเจอปัญหาคนไร้สัญชาติอีกเป็นล้าน ชี้นโยบายขายบัตรประกันสุขภาพราคาถูกเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ สุดท้ายระบบจะพังทั้งประเทศ จี้นายจ้างร่วมรับผิดชอบช่วยจ่ายค่าประกันด้วย

นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า นโยบายการดูแลแรงงานข้ามชาติของโรงพยาบาลคือให้การดูแลทั้งหมดไม่ว่าจะมีหรือไม่มีบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งในปี 2558-2559 มีหนี้สูญที่เกิดจากการรักษาแรงงานต่างด้าวแล้วไม่สามารถเรียกเก็บได้ประมาณ 1 ล้านบาท แต่ทางโรงพยาบาลบริหารจัดการโดยเก็บเงินจากผู้มีกำลังจ่าย เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ มาชดเชยหนี้สูญเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบในขณะนี้คือแรงงานคลอดลูกแล้วทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล ล่าสุดมีกรณี Refer ไปที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต แต่คลอดแล้วแม่หลบหนีไป ทางโรงพยาบาลวิชระภูเก็ตก็ส่งตัวเด็กกลับมาและทางโรงพยาบาลป่าตองก็รับไว้ ซึ่งในกรณีที่ตามตัวพ่อแม่เด็กไม่ได้ ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือถ้ามีกรณีแบบนี้อีกในอนาคตจะทำอย่างไร

“กรณีที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร ผมคิดว่านโยบายแห่งรัฐคงต้องดูแลว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งรัฐบาลพม่าก็ต้องช่วย ไม่ใช่ปล่อยคนมาแล้วให้รัฐบาลไทยจัดการหมด เด็กที่คลอดแล้วไม่มีสัญชาติจะทำอย่างไร ต้องนี้ต้องเอาสักอย่างว่าจะทำยังไง เพราะไทยไม่ให้สัญชาติ พม่าก็ไม่รับ แล้วอีกหน่อยคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นล้านคน” นพ.ศิริชัย กล่าว

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังพบปัญหาว่ามีแรงงานพม่าสวมสิทธิบัตรประกันสุขภาพแล้วมาฝากท้อง กล่าวคือมี 1 คนที่ซื้อบัตร แต่ให้คนอื่นถือบัตรมาทำคลอด กลายเป็นชื่อเดียวกันแต่คลอดทุกๆ 6 เดือน จนโรงพยาบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการติดรูปไว้ที่บัตรเพื่อยืนยันตัวตน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น ทางโรงพยาบาลก็เปิดขายตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข แต่กรณีแรงงานตั้งท้องนั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ บนเงื่อนไขว่าสามารถทำงานได้ แต่หากตั้งท้องแล้วมาซื้อบัตรประกันสุขภาพก็ไม่เข้าเงื่อนไขในการเป็นแรงงาน

เช่นเดียวกันการออกใบรับรองการเกิด ทางโรงพยาบาลออกใบรับรองให้ตลอด ยกเว้นกรณีคลอดแบบไม่ทราบที่มาที่ไปแล้วอุ้มเด็กจะมาให้โรงพยาบาลออกใบรับรองให้ แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อออกใบรับรองให้แล้ว พ่อแม่เด็กไม่ไปแจ้งเกิดที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ แล้วไปบอกกับคนอื่นว่าโรงพยาบาลไม่ออกใบรับรองให้ ซึ่งกรณีแบบนี้ทางโรงพยาบาลเก็บหลักฐานการเซ็นรับเด็กไว้ทั้งหมด สามารถนำมายืนยันได้

“การขายบัตรประกันสุขภาพ เราก็ทำตามนโยบายกระทรวง แม้ว่าบางส่วนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม อย่างเช่นราคาบัตรประกันสุขภาพ ขายประกันสุขภาพเด็กในราคา 300 กว่าบาท แบบนี้ไม่ไหว เก็บ 300 กว่าบาทแต่ให้ดูแลทุกอย่างแบบนี้ไม่ Make sense ไม่มีประกันที่ไหนในโลกมีแบบนี้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ มันทำให้ระบบเจ๊งหมดทั้งประเทศ” นพ.ศิริชัย กล่าว

นพ.ศิริชัย กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าราคาบัตรประกันสุขภาพจริงๆ อย่างน้อยที่สุด ราคาสำหรับผู้ใหญ่ต้องเท่ากับค่าเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง หรืออาจเก็บจากแรงงานต่างด้าวในราคา 1,600 บาทเหมือนเดิม แต่นายจ้างต้องจ่ายสมทบด้วย เพราะนายจ้างได้คนทำงาน ทำธุรกิจได้กำไร แต่กลับผลักภาระมาที่ระบบ

“ตอนนี้นายจ้างลดต้นทุนตัวเองโดยการเอาเงินของรัฐบาล เงินภาษีประชาชนมาสนับสนุน ซึ่งมันไม่ใช่ คุณได้ประหยัดต้นทุน ได้แรงงานราคาถูกไปใช้ แต่รับผิดชอบอะไรบ้าง แบบนี้ประเทศอยู่ไม่ได้” นพ.ศิริชัย กล่าว

นพ.ศิริชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรเก็บเงินจากนายจ้างตามสัดส่วนจำนวนคนงานในสังกัดแล้วนำมาเข้ากองกลางหรือให้กองทุนสักแห่งบริหาร อาจจะเก็บ 10-20 บาท/คน/เดือน เชื่อว่าจะได้เงินจำนวนมากพอสมควร และจะได้นำเงินส่วนนี้มาช่วยอุดช่องว่างต่างๆ ในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว เช่น ใช้ซื้อนมเด็ก ใช้เลี้ยงดูเด็กที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การดูแลทำได้ดีมากขึ้นกว่านี้