ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เรื่อง “พัฒนศาสตร์ กับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ (ไม่) เป็นธรรม” ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีชุดโครงการวิจัย เรื่อง”คนไทยกับแรงงานข้ามชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีจริยธรรม” ภายใต้หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม”

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการวิจัย “การอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติ และบทบาทของสหภาพแรงงานว่า งานวิจัยชิ้นนี้นั้น อธิบายการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยผ่านมุมมองของของผู้นำสหภาพแรงงาน และชี้ให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและบทบาทของสหภาพแรงงานที่มีต่อแรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดจริยธรรมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งกรณีศึกษาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 3 แห่ง ที่มีสหภาพแรงงาน ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล 3 จังหวัด คือสมุทรสาคร สมุทปราการ และนนทบุรี แม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีสหภาพแรงงาน แต่ก็พบว่ามีเหตุการที่แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นตัวอย่างสำหรับการแสดงให้เห็นบทบาทของสหภาพแรงงานที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยอย่างมีจริยธรรมในระดับที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด ได้แก่ การสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติมีสถานภาพเป็นลูกจ้างที่เท่ากับแรงงานไทย อยู่ภายใต้รูปแบบสภาพการจ้างงานเดียวกัน ไม่ใช่สถานการณ์แรงงานเหมาค่าแรงที่ได้รับสวัสดิการต่างกัน หรือน้อยกว่า เมื่อสหภาพแรงงานมีการยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้างแรงงานข้ามชาติก็จะได้รับด้วยเช่นกัน

การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในฐานะพวกเดียวกันไม่ใช่คนอื่น เป็นบทบาทสำคัญของสหภาพแรงงาน ระดับกลุ่มสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานระดับชาติ แสดงให้เห็นถึงจริยธรรมของการอยู่ร่วมกัน เช่นสหภาพแรงงานมีการแก้ข้อบังคับเปิดให้แรงงานข้ามชาติสมัครเป็นสมาชิกได้ ซึ่งเดิมอาจมีเพียงแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกได้เท่านั้น ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลเมื่อถูกละเมิดสิทธิแรงงาน นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่สหภาพแรงงานจัดให้กับสมาชิก หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรระดับชาติด้วย แสดงให้เห็นถึงการยอมรับแรงงานข้ามชาติว่า เป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่เป็นคนอื่น

บทบาทของสหภาพแรงงานที่กล่าวมาเป็นการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ยังมีระดับชาติอย่างกลุ่มสหภาพแรงงาน และองค์กรระดับชาติที่มีการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติผ่านการผลักดันในระดับนโยบาย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในระหว่างแรงงานด้วยกันเองเมื่อทำงานอยู่ด้วยกันไประยะหนึ่งก็เกิดความเห็นอกเห็นใจ ความเอ็นดูต่อกันระหว่างแรงงานไทยรุ่นอาวุโสกับแรงงานข้ามชาติรุ่นลูก รุ่นหลานจนลดอคติที่มีต่อกัน กลายเป็นมิตร เมื่อปราศจากอคติด้านชาติพันธุ์สามารถเกิดความสัมพันธ์แบบเพื่อน พี่น้องถึงขนาดออกมาปกป้องกัน

ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การเกิดจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องมีเงื่อนไขสำคัญ คือ

1. การได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย จริยธรรมในการอยู่ร่วมกันของคน 2 กลุ่ม ไม่สามารถสร้างขึ้นได้หากฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์บนความสูญเสียของอีกฝ่าย

2.การมีพื้นที่สำหรับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ในระดับของแรงงานทั่วไป ความรู้สึกที่ดีต่อกันเกิดจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคม หลังจากที่ได้ทำงายร่วมกันนานๆ และมีกิจกรรมทางสังคมบางด้านร่วมกันซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงอคติของแรงงานไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติมาสู่ความเห็นใจ ทั้งในฐานะของการเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และการเป็นแรงงานที่ต้องเผชิญปัญหาลางอย่างร่วมกัน

3 การมีกฎหมายที่เป็นธรรม และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางในการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร มีข้อเสนอที่สำคัญดังนี่ คือ

1.ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อลดอคติด้านชาติพันธุ์ผ่านสื่อต่างๆ เวทีการแลกเปลี่ยนของสหภาพแรงงานและพื้นที่สำหรับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

2. การกฎหมายหรือกฎกติกาที่เป็นธรรมและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการบอมรับกฎกติกาในระดับสากล และการพัฒนากฏหมายภายในประเทศให้มีความเป็นธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยที่สหภาพแรงงานควรทำหน้าที่เป็นกลไกในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มคนที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ คือแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย นายจ้างและสหภาพแรงงาน โดยผ่านเวทีการจัดกลุ่มซึกษาหรือการจัดอบรมสัมมนาต่างๆ

ขอบคุณ voicelabour.og

เรื่องที่เกี่ยวข้อง