ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-สถาบันอาศรมศิลป์ เปิดต้นแบบ ‘วัดที่คนไทยอยากเห็น’ ดึงนักออกแบบรุ่นใหม่พัฒนา 40 วัด สู่ศูนย์เรียนรู้ตอบโจทย์สุขภาวะ 4 มิติร่วมสมัย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในงาน “W(h)at If ...” Forum & Exhibition ถ้าวัด...ในวันนี้ จะเป็นวัดที่คนไทยอยากเห็น จัดโดย โครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่องานรวบรวมแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจในการพลิกฟื้นวัดอย่างร่วมสมัย ภายในงานได้มีนิทรรศการผลงานการออกแบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ให้กับวัด โดยแสดงให้เห็นตัวอย่างปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงของนักออกแบบอาสาสมัครโครงการวัดบันดาลใจ โดยจัดนิทรรศการและเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างวันที่ 21-26 ก.พ.นี้

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า โครงการวัดบันดาลใจถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของเมืองที่ตอบโจทย์การพัฒนาสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยพลิกฟื้นทุนทางธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม กิจกรรมและการจัดการเพื่อดึงคนยุคใหม่กลับเข้าวัด สิ่งสำคัญในการทำงานคือ การสร้างความเข้าใจกับวัด ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น เพื่อหาจุดสมดุลร่วมกันในการจัดทำผังแม่บทในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กิจกรรม และพื้นที่โดยรอบชุมชน โดยมี 9 วัดนำร่องที่มาจากตัวแทนของวัดกลางเมือง วัดตามวิถีบวร วัดป่าสายปฏิบัติ วัดกับการเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน วัดพัฒนาโบราณสถานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถเป็นแรงผลักดันให้กับวัดทั่วประเทศ จนเกิดเป็นเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส โดยมีการประยุกต์ระหว่างกิจกรรมเดิมที่วัดจัดเข้ากับกิจกรรมธรรมะร่วมสมัยโดยไม่ขัดกับวิถีปฏิบัติเดิมของวัด

น.ส.ปริยาภรณ์ สุขกุล ผู้จัดการโครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า โจทย์ที่ได้รับจาก สสส.คือทำอย่างไรที่จะพลิกฟื้นวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ สร้างเสริมสุขภาพทางกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม ในปีแรกจึงได้ออกแบบวัดทั้ง 9 แห่ง และขยายเพิ่มไปอีก 40 แห่งในปีที่สอง ซึ่งประเด็นในการออกแบบวัดที่พบบ่อยคือ ความร่มรื่นหรือสัปปายะ โดยเฉพาะวัดในเมือง จึงเกิดเป็นแนวทางการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น 1.ลดภาวะวัดร้อน พื้นที่วัดในเมืองส่วนใหญ่กลายเป็นที่จอดรถหรืออาคาร จึงเกิดการวางผังจัดการพื้นที่ใหม่ ทำให้พื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่สีเขียวอยู่รวมกันได้อย่างร่มรื่น 2. สบายอาราม วัดส่วนใหญ่มักขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารโดยไม่มีผังรองรับและไม่เหลือพื้นที่โล่ง ทั้งที่พุทธศาสนาตั้งต้นมาจากธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวทำให้จิตใจสงบ จึงใช้การออกแบบผังแม่บท ปรับให้สภาพแวดล้อมให้วัดโล่งโปร่งสบาย รวมถึงการจัดโซนนิ่งการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และพื้นที่บริการชุมชน เพื่อให้มีการบริหารจัดการและการจัดการสัญจรที่เหมาะสม

3. ธรรมตามสมัย โดยปรับกิจกรรมธรรมะให้ร่วมสมัยเพื่อธรรมะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ จึงทดลองจัดกิจกรรมตักบาตรเดือนเกิด พลิกฟื้นวิถีการทำบุญตักบาตร โดยปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีคนเมือง 4. วัดเก่าของเราแต่งก่อน-ของเก่ามาเล่าใหม่ วัดจำนวนมากที่เป็นมรดกทางธรรมและทางวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้วัดเหล่านี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และพลิกฟื้นกิจกรรมในอดีตอย่างถูกต้องและร่วมสมัย 5. ปิดทองหลังวัด ชวนทุกคนมาช่วยกันจัดการเรื่องหลังวัด โดยวิธีบริหารจัดการแบบใหม่ เช่น การจัดการขยะ สังฆทาน รวมถึงระบบล้างจาน การคัดแยกขยะสำหรับฆราวาสในวัด

สำหรับ 9 วัดนำร่อง ประกอบด้วย 1. วัดสุทธิวราราม กทม. 2. วัดนางชี กทม. 3. วัดชลประทานรังสฤษฏ์ (อารามหลวง) จ.นนทบุรี 4. มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและวัดมหาจุฬาลงกรณ์ราชูทิศ จ.พระนครศรีอยุธยา 5. วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา 6. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ 7. วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม 8. วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษ และ 9. วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช