ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.จัดประชุมวิชาการ “เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น” ดึง 5 หน่วยงานประสานพลังวางมาตรการลดแม่วัยรุ่นจากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตั้งเป้าลดการตั้งท้องในวัยเรียน 50% ภายใน 10 ปี

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 องค์กรหลักตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย องค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA และเครือข่ายเยาวชน จัดการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 หัวข้อ เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น: เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้จากเครือข่ายการทำงานสู่การพัฒนานโยบายและมาตรการในการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. เป็นประธาน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะพบปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ เนื่องจากสัดส่วนการทดแทนประชากรที่ลดลง ขณะที่ปัญหาแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

“การทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยการระดมสรรพกำลังและการทำงานในหลายด้านร่วมกัน ทั้งภาคการศึกษา สาธารณสุข ท้องถิ่น สถานประกอบการ มูลนิธิ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมร่วมด้วย ตั้งแต่ท้องถิ่น ตำบล หมู่บ้าน จนถึงจังหวัด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยในฐานะฝ่ายเลขานุการตามกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต้องมีข้อมูลเพื่อป้อนให้กับคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วม สิ่งสำคัญในการทำงานคือต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น เข้าใจผู้ร่วมงานต่างหน่วยงาน เพื่อให้เข้าถึงใจวัยรุ่นและพึ่งเราได้ การห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เชื่อว่าไม่สามารถห้ามกันได้ แต่จะทำอย่างไรให้ได้ข้อมูลการป้องกันที่ถูกต้อง ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้นข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์จึงต้องถูกต้องและเรียลไทม์ เพื่อให้เป้าหมายการทำงานร่วมกันคือ ในอีก 10 ปี จะลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้ได้ 50%สำเร็จ โดยสสส.ควรจัดกิจกรรมเช่นนี้เพื่อติดตามสถานการณ์และแลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส.ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่ จำนวน 20 จังหวัดนำร่อง เพื่อสนับสนุนในการพัฒนายุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพราะ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ถือเป็นประตูสำคัญสู่การทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย สิ่งที่จะตามมาคือการเชื่อมโยงจากนโยบายไปสู่กลไกในทางปฏิบัติเชิงพื้นที่ ทั้งระบบที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพ ท้องถิ่น องค์กรการจ้างงาน และหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีโอกาสบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ