ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าขั้นวิกฤติ โดยพบว่าอัตราส่วนมารดาตายสูงกว่าเป้าหมายระดับประเทศประมาณ 3 เท่า

ความสำคัญของงานอนามัยแม่และเด็กนั้นมีไม่น้อย เนื่องจากเป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่เข้ามาดูแลจัดการเกี่ยวกับกระบวนการเกิดมีชีวิตของประชากร อีกทั้งสถานการณ์การป่วยและตายของมารดาและเด็กได้ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องบ่งชี้สภาวะสุขภาพของประชากรและการพัฒนาประเทศที่สำคัญ โดยบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และความเพียงพอของสถานบริการด้านสุขภาพ

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้าในการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและหญิงระยะตั้งครรภ์และหลังคลอดได้อย่างมีนัยยะสำคัญยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพบว่าอัตราการตายของมารดาในภาคใต้คิดเป็น 2 เท่าของอัตราการตายของมารดาในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบปัญหานี้สูงที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 82.81, 67.43 และ 63.93 ต่อแสนคนในการเกิดมีชีวิต ตามลำดับ (เกณฑ์มาตรฐาน ไม่ควรเกิน ร้อยละ 15 ต่อแสนคนในการเกิดมีชีวิต)

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาปัญหาด้านสุขภาพในระดับโลกและภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่การบรรลุเป้าหมายลดอัตราส่วนมารดาตายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2548-2558 ยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ยากต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในหลายช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมา

การศึกษาเรื่อง สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของงานอนามัยแม่และเด็ก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดย ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล และคณะ ซึ่งเป็นงานศึกษาสถานการณ์งานอนามัยแม่และเด็ก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วง พ.ศ. 2557-2558 เผยให้เห็นสภาพปัญหาของงานอนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนแนวทางการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กได้อย่างน่าสนใจ

ผลการศึกษาชี้ว่า สถานการณ์อนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าขั้นวิกฤติ โดยพบว่าอัตราส่วนมารดาตายสูงกว่าเป้าหมายระดับประเทศประมาณ 3 เท่า และสูงกว่าเป้าหมาย MDGs Plus เกือบ 2 เท่าตัว และมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายในเกือบทุกตัวชี้วัด

สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ในบริบทของสูติศาสตร์สมัยใหม่มีเพียงน้อยรายที่น่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย หญิงตั้งครรภ์ยังคงฝากครรภ์กับผดุงครรภ์โบราณด้วยเพราะวิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ แต่ยังไม่ได้เห็นความสำคัญว่าเป็นการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอนามัยแม่และเด็กทั้งระดับปัจเจก สังคม และระบบบริการสาธารณสุขยังต้องใช้ความพยายามในการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็งอีกหลายเท่าตัว

ผลการศึกษามีข้อค้นพบสำคัญถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จในงานอนามัยแม่และเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ

1. กำลังคนผู้ปฏิบัติงานอนามัยแม่และเด็ก มีลักษณะ “คนไม่ทันเก่า ใหม่ก็มา” เพราะเป็นงานที่ยาก ต้องใช้ทักษะ/ประสบการณ์ค่อนข้างสูงในการประเมินและจัดการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบกับเครื่องมือและตัวชี้วัดที่มีมาก บางตัวชี้วัดไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ภาระงานมากรวมถึงอัตรากำลังตามระบบยังไม่เอื้อ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ (น้องใหม่) มาปฏิบัติงานจะมีการโอนงานเพื่อตนจะได้ไปรับผิดชอบงานอื่น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานอนามัยแม่และเด็ก

2. ความเชื่อที่ยังคงมีอยู่และเป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ คือ

1) ความเชื่อว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารมาก รวมถึงไม่ควรรับประทานยาบำรุง

2) ความเชื่อที่จะคลอดกับหมอผู้หญิงรวมถึงวิถีชีวิตศาสนาที่ให้คุณค่าสูงมากในเรื่องการให้กำเนิดบุตรและเชื่อว่าการตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ แม้ในรายที่หญิงตั้งครรภ์มีโรคมีความเสี่ยงสูงก็ยังต้องการมีลูกเพื่อสืบสกุล ตลอดจนทัศนคติที่คิดว่าการคุมกำเนิดนั้นผิดหลักการของศาสนาอิสลาม

3. โต๊ะบีแด (หมอตำแย) ถือเป็นจุดแข็งของระบบอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วยวิถีชีวิตและศรัทธาต่อโต๊ะบีแด เนื่องจากเป็นผู้อาวุโสที่มีความรู้ความชำนาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ผสมผสานกับหลักศาสนา อบอุ่นใจในน้ำคำ น้ำใจที่โต๊ะบีแดดูแลคนไข้ประดุจญาติมิตรและค่าใช้จ่ายถูก ในขณะที่บริการทางการแพทย์ยังมีข้อจำกัด และมีช่องว่างที่ไม่สามารถเข้าใจเข้าถึงวิถีมุสลิมได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดังนี้

1. มาตรการระยะเร่งด่วน ควรจับมือกับโต๊ะบีแดเพื่อร่วมฝ่าวิกฤตลดอัตรามารดาตายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยฟื้นฟูและพัฒนาสมรรถนะโต๊ะบีแดเรื่องประเมินปัจจัยเสี่ยงของหญิงมีครรภ์ การส่งต่อและการทำคลอดฉุกเฉินอย่างปลอดภัย มีมาตรการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อรักษาคนดี คนเก่ง (บุคลากรสาธารณสุข อสม.) ให้อยู่ในระบบงานอนามัยแม่และเด็ก เร่งสร้างความเข้มแข็งโรงเรียนพ่อแม่เพื่อส่งเสริมบทบาทสามีให้มีทัศคติที่ดีมีความพร้อมร่วมดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ และค้นหาหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงสูง เพื่อให้บริการดูแลขณะตั้งครรภ์และให้มีความมั่นใจทุกรายที่คลอดมีสุขภาพดี

2. มาตรการระยะกลางและระยะยาว กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมทบทวนตัวชี้วัดและปรับแนวทาง/กลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายอนามัยแม่และเด็กให้เป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมและเป็นไปได้ เพื่อเป็นพลังให้เกิดการสร้างวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่ที่เหมาะสม สอดคล้องตามสภาพปัญหาในบริบทของพื้นที่ต่อไป มีการวิเคราะห์และสนับสนุนอัตรากำลังในงานอนามัยแม่และเด็ก รวมถึงสนับสนุนโควตาเรียนสูตินรีแพทย์เป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเพิ่มสมรรถนะแก่แพทย์หรือผู้ปฏิบัติงานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ให้มีความเข้าใจวิถีมุสลิมอย่างแท้จริง

เก็บความจาก

ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล และคณะ. สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของงานอนามัยแม่และเด็ก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.), 2558.