ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจนีวา องค์การอนามัยโลกเผยแพร่บัญชีเชื้อก่อโรคดื้อยาเร่งด่วน รวบรวมแบคทีเรียดื้อยา 12 ชนิดซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพ

ขอบคุณภาพจาก BBC

บัญชีเชื้อดื้อยาของอนามัยโลกมีเป้าหมายเพื่อชักนำและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาปฏิชีวนะใหม่อันเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามหาทางรับมือปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งกำลังลุกลามไปทั่วโลก  

บัญชีดังกล่าวเน้นไปที่แบคทีเรียแกรมลบซึ่งทนทานต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว จากการที่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดื้อต่อยาและส่งผ่านสารพันธุกรรมจนทำให้เชื้อตัวอื่นเกิดดื้อยาตามไปด้วย

ดร.มารี-ปอล ไคนีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านระบบสุขภาพและนวัตกรรมของอนามัยโลก เผยว่า บัญชีเชื้อดื้อยาเร่งด่วนเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาให้ตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข ดังที่ปัญหาเชื้อดื้อยามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกวันสวนทางกับทางเลือกการรักษาที่ตีบแคบลงทุกขณะ หากปล่อยให้การพัฒนายาเป็นไปตามกลไกตลาดก็จะทำให้การพัฒนายาปฏิชีวนะซึ่งมีความจำเป็นสูงสุดไม่ทันการณ์

บัญชีของอนามัยโลกแบ่งออกเป็น 3 หมวดตามระดับความจำเป็นต่อยาปฏิชีวนะใหม่ ดังประกอบด้วย ขั้นวิกฤติ ขั้นสูง และขั้นปานกลาง

เชื้อในหมวดความจำเป็นขั้นวิกฤติ เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายตัวซึ่งแฝงอยู่ในโรงพยาบาล สถานบริบาล และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจและสายสวนหลอดเลือด เชื้อในกลุ่มนี้ประกอบด้วย Acinetobacter, Pseudomonas และเชื้อในกลุ่ม Enterobacteriaceae (รวมถึง Klebsiella, E. coli, Serratia และ Proteus) ซึ่งก่อให้เกิดอาการติดเชื้อรุนแรงที่อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ  

แบคทีเรียกลุ่มนี้เริ่มดื้อยาต่อปฏิชีวนะหลายกลุ่ม ได้แก่ carbapenems และ cephalosporins รุ่นที่ 3 อันเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาแบคทีเรียดื้อยาหลายตัวซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่มีในขณะนี้

ส่วนแบคทีเรียในหมวดที่ 2 และ 3 (ขั้นสูงและขั้นปานกลาง) ประกอบด้วยแบคทีเรียก่อโรคที่พบบ่อย เช่น หนองในและอาหารเป็นพิษ (จากเชื้อ salmonella) ซึ่งเริ่มพบการดื้อยามากขึ้น

ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงของเยอรมนี เผยว่า ระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องมียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขในอนาคต และว่า ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาเป็นวาระสำคัญของกลุ่มประเทศจี 20 และบัญชีเชื้อดื้อยาเร่งด่วนของอนามัยโลกเครื่องมือใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับและวางแนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านยาปฏิชีวนะ

บัญชีเชื้อดื้อยาของอนามัยโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อจี้ให้แต่ละประเทศวางนโยบายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงวางแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น WHO/Drugs for Neglected Diseases initiative (DNDi) Global Antibiotic R&D Partnership ซึ่งพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ในลักษณะไม่แสวงหากำไร

เชื้อวัณโรคซึ่งเริ่มมีความชุกของการพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ไม่ได้รวมอยู่ในบัญชีดังกล่าวเนื่องจากเป็นเชื้อเป้าหมายของโครงการอื่น อนึ่ง เชื้อที่ไม่รวมอยู่ในบัญชีเร่งด่วนยังรวมถึงเชื้อ streptococcus A และ B และเชื้อ chlamydia ซึ่งยังคงมีอัตราการดื้อยาต่ำและยังไม่ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงด้านสาธารณสุข

บัญชีเชื้อดื้อยาเร่งด่วนจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างอนามัยโลกและแผนกโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยทิวบิงเกน  ประเทศเยอรมนี โดยอาศัยเทคนิควิเคราะห์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เกณฑ์การคัดเลือกเชื้อเข้าสู่บัญชีประกอบด้วย 

·        ความร้ายแรงของอาการติดเชื้อ

·        ความจำเป็นที่จะต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

·        ความถี่การดื้อยาปฏิชีวนะเมื่อพบการติดเชื้อในชุมชน

·        ความยากง่ายที่จะเกิดการระบาดในสัตว์ จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน

·        การป้องกัน (เช่น การรักษาสุขอนามัยและฉีดวัคซีน)

·        ทางเลือกการรักษาที่เหลืออยู่

·        ยาปฏิชีวนะที่กำลังอยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนา

ด้านหัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยทิวบิงเกนเปิด เผยว่า ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่เจาะจงต่อเชื้อในบัญชีดื้อยาเร่งด่วนจะช่วยลดการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก และว่า การทอดเวลาให้นานออกไปจะก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขตามมาซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย 

แม้การวิจัยและพัฒนามีนัยสำคัญต่อการรับมือปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา อย่างไรก็ดีการวิจัยและพัฒนาแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อการนี้ยังต้องอาศัยการยกระดับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมทั้งในคนและสัตว์ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคตอย่างสมเหตุสมผล

บัญชีเชื้อก่อโรคดื้อยาจำแนกตามระดับความจำเป็นต่อยาปฏิชีวนะตัวใหม่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก

ลำดับที่ 1: ขั้นวิกฤติ

  • Acinetobacter baumannii, carbapenem-resistant
  • Pseudomonas aeruginosa, carbapenem-resistant
  • Enterobacteriaceae, carbapenem-resistant, ESBL-producing

ลำดับที่ 2: ขั้นสูง

  • Enterococcus faecium, vancomycin-resistant
  • Staphylococcus aureus, methicillin-resistant, vancomycin-intermediate and resistant
  • Helicobacter pylori, clarithromycin-resistant
  • Campylobacter spp., fluoroquinolone-resistant
  • Salmonellae, fluoroquinolone-resistant
  • Neisseria gonorrhoeae, cephalosporin-resistant, fluoroquinolone-resistant

ลำดับที่ 3: ขั้นปานกลาง

  • Streptococcus pneumoniae, penicillin-non-susceptible
  • Haemophilus influenzae, ampicillin-resistant
  • Shigella spp., fluoroquinolone-resistant

ที่มา WHO publishes list of bacteria for which new antibiotics are urgently needed