ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.หนองผือ นับเป็นอีกตัวอย่างที่ดีในการทำงานร่วมกับแม่ข่ายและชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการ รพ.สต.แห่งนี้ตั้งอยู่ใน ต.บ้านเอื้อง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เริ่มต้นจากการเป็นสถานีอนามัยเล็กๆ ก่อนจะเปลี่ยนสถานะมาเป็น รพ.สต.ในปี 2551 และแม้จะมีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน ก็สามารถพัฒนาเรื่อยมาจนเป็น รพ.สต.ติดดาวในปัจจุบัน

ทีมงานเดินทางไปถึง รพ.สต.หนองผือ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากทั้งสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพ.สต. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านเอื้อง ที่มาร่วมพูดคุยให้ข้อมูลแนวทางการดำเนินการพัฒนาคุณภาพสู่การเป็น รพ.สต.ติดดาว สะท้อนให้เห็นความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของทั้งแม่ข่าย ชุมชน และ รพ.สต. ได้เป็นอย่างดี

ขันชัย ขันทะชา สาธารณสุขอำเภอศรีสงคราม (สสอ.ศรีสงคราม) ให้ข้อมูลว่า ในภาพรวมของ อ.ศรีสงคราม ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพ รพ.สต. ตามนโยบายเขตสุขภาพที่ 8 มา 3-4 ปีแล้ว โดยมีแนวคิดต้องการเห็น รพ.สต.มีมาตรฐาน มีการบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ประชาชนเข้าถึงบริการ และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข

สำหรับพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดมี 9 ตำบล 109 หมู่บ้าน มีจำนวน รพ.สต.ทั้งหมด 18 แห่ง โดยในปี 2558 อ.ศรีสงคราม ได้ส่งการประเมิน รพ.สต.ติดดาว 7 แห่ง และปี 2559 อีก 12 แห่งก็ทำให้ผ่านการประเมิน 100% จากเกณฑ์เดิม ขณะที่เกณฑ์ใหม่ รพ.สต.ติดดาว 5 ดาว 5 ดี ได้จัดหมวดหมู่ใหม่เป็น 5 หมวด มีหมวดสำคัญๆ เพิ่มเข้ามาจากงานที่ทำอยู่เดิม 30% ซึ่งในพื้นศรีสงครามได้ถ่ายทอดให้ทุก รพ.สต.เข้าใจและตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะพัฒนาทั้ง 18 แห่งไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการในการปรับปรุงให้ผ่านเกณฑ์ในแต่ละมาตรฐาน จะมี Core Team ในระดับอำเภอมาเยี่ยมดู รพ.สต.ทุกที่ โดยจะพิจารณาบริบทที่มีอยู่เดิมและนำสิ่งที่มีอยู่เทียบกับเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว จากนั้นจึงเริ่มวางแผนพัฒนา และ Core Team จะมาติดตามทุก 2-3 เดือน เรียกว่าเป็นการเยี่ยมเสริมพลัง เยี่ยมด้วย ให้กำลังใจด้วย เพื่อดูความก้าวหน้าหลังจากที่ให้คำแนะนำไป และดูว่ายังมีจุดไหนขาดอยู่บ้าง เช่น บาง รพ.สต.มีเครื่องมือครบ แต่ยังขาดองค์ความรู้ ก็จะจัดอบรมเพิ่มความรู้เพื่อให้ได้มาตรฐานในแต่ละวิชาชีพ เป็นต้น

สสอ.ศรีสงคราม กล่าวอีกว่า กระบวนการเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ สสอ.จะขับเคลื่อนได้ แต่ต้องอาศัยโรงพยาบาลมาสนับสนุนในเรื่องมาตรฐานการทำงาน ต้องอาศัยเทคนิคแต่ละวิชาชีพเข้ามาช่วย เช่น งาน IC ใน รพ.สต.ต้องมีพี่เลี้ยงของโรงพยาบาลให้คำปรึกษา งานแล็บต้องมีนักเทคนิคการแพทย์เข้ามาดูแล เรื่องด้านยาก็เช่นกัน ตั้งแต่การกำหนดหลักการใช้ First in, first out การควบคุมอุณหภูมิ พื้นที่มาตรฐานอย่างน้อย 15 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละมาตรฐานต้องมีการติดตามเป็นช่วงๆ เพื่อให้คำแนะนำตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ ในส่วนของ รพ.สต.หนองผือ ถือว่ามีความโดดเด่นในแง่ของการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่นด้านการปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้ได้มาตรฐาน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ซึ่งถ้าเทียบกับ รพ.สต.หลายแห่งระดับจังหวัด หรือในเขตอื่น อาจจะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าที่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ รพ.สต.แห่งนี้มีพัฒนาการมาเรื่อย โดยทำเรื่อง PCA มาก่อน จึงได้เปรียบกว่าอำเภออื่นในการต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็น รพ.สต.ติดดาว

ขณะเดียวกัน รพ.สต.หนองผือ ยังโดดเด่นในเรื่องการมีส่วนร่วมภาคีเครือข่าย ตั้งแต่นายก อบต.ที่มีส่วนสนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและเข้าใจกระบวนการการทำงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การทำงานในชุมชนก็มีความหลากหลาย มีการใช้กิจกรรม โดยเฉพาะการจัดคลินิกบริการต่างๆเข้ามาเสริม ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เช่น บริการแพทย์แผนไทย งานทันตกรรม ที่นี่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทันตกรรม แต่ CUP การสนับสนุนเจ้าหน้าที่หมุนเวียนมาปฏิบัติงานในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมาใช้บริการ เป็นต้น

ด้าน อรษา ยอดสุบัน ผู้อำนวยการ รพ.สต.หนองผือ กล่าวเสริมว่า ขั้นตอนการปรับปรุง รพ.สต. เมื่อได้รับนโยบายมาแล้วก็จะจัดประชุมในพื้นที่ นัด อสม. และผู้นำชุมชนมาประชุมร่วมปรึกษาหารือในเรื่องการพัฒนา โดยมีพี่เลี้ยงจาก สสอ. มาช่วยให้คำแนะนำ

“เริ่มแรก การพัฒนาอาคารใช้เงินของ รพ.สต.และเงินผ้าป่าในการพัฒนา แต่เดิมอาคารชั้นล่างจะโล่งหมด แต่ได้งบต่อเติมมาดำเนินการจัดสร้างห้องต่างๆ วางโซนต่างๆตามมาตรฐาน หรือการปรับปรุงห้องยา ก็ต่อเติมห้องยาใหม่ขนาดมาตรฐาน 15 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งทีมอำเภอจะมาเยี่ยมเป็นระยะและให้คำชี้แนะในการปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนมีรูปแบบการจัดบริการที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย จุดให้บริการต่างๆได้มาตรฐาน คลินิกเด็ก คลินิกฝากครรภ์ รวมทั้งการให้บริการมาตรฐานห้องยา ห้องแล็บ เราในฐานะผู้ให้บริการก็ง่าย และเกิดความพึงพอใจของประชาชนโดยภาพรวม”อรษา กล่าว

ในส่วนของการจัดบริการ จะมี อสม.จิตอาสามาช่วยงานวันละ 2 คน ในการคัดกรอง ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน บางครั้งมีบริการฉีดวัคซีนเด็ก ก็มี อสม.มาเพิ่มมากกว่าปกติ ในส่วนของการฝากครรภ์ ก็มีพยาบาลที่ผ่านการอบรมเวชปฏิบัติมาปฏิบัติงาน อีกส่วนหนึ่งคือการให้บริการแพทย์แผนไทย รพ.สต. ใช้วิธีการให้ อสม. ไปอบรม 372 ชั่วโมง และกลับมาให้บริการประชาชน ทั้งการนวดอบประคบ นวดฝ่าเท้า โดยจะทำสวนสมุนไพรเองเพื่อเอามาทำลูกประคบสำหรับให้บริการ

อรษา กล่าวอีกว่า ข้อดีที่น่าปลื้มใจของพื้นที่นี้ คือภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะนายกอบต.ที่ให้ความร่วมมือในด้านการสาธารณสุขเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งมีปัญหาไข้เลือดออกระบาดในพื้นที่ นายกอบต.ก็ลงพื้นที่กำกับดูแลการควบคุมป้องกันโรคด้วยตัวเอง และสนับสนุนงบประมาณ อาทิ ค่าน้ำมันในการพ่นหมอกควันต่างๆ หรือในด้านการประสานงานต่างๆ หากทำหนังสือไม่ทันก็ประสานผ่านโทรศัพท์หรือไลน์ และนายกอบต.พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง

“การขออนุมัติโครงการของ รพ.สต. ส่วนมากจะอนุมัติทุกโครงการ เราก็ได้รับการช่วยเหลือตรงนี้ และในส่วนของชุมชนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เช่น การทำผ้าป่า ชาวบ้านไม่ขัดข้องช่วยเต็มที่ การประสานงานถือว่าดี ทั้งงบประมาณ บุคลกร ก็จะลงมาเป็นทีม พี่เลี้ยงจาก สสอ.ศรีสงครามก็ให้คำชี้แนะได้อย่างดีเยี่ยม รพ.สต.หนองผือถึงได้มาถึงจุดนี้ได้”ผู้อำนวยการ รพ.สต.หนองผือ กล่าว

อรษา กล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่อื่นๆก็มีเครือข่ายในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ที่ต่างกันคือแต่บทบาทของผู้นำ เช่น นายกอบต.  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจไม่เข้าใจบริบทการพัฒนา รพ.สต.ติดดาว แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความร่วมมือ เพียงแต่ความเข้าใจในเรื่องนี้อาจจะน้อย เช่นเดียวกับในภาพรวม อำเภอศรีสงคราม ภาคีเครือข่ายทุกตำบลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางสาธารณสุข เนื่องจากพื้นที่นี้ใช้กลไกการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) ซึ่งมีนายอำเภอเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นบทบาทการขับเคลื่อนโดยภาพรวม นายอำเภอจะมีส่วนช่วยกำกับส่วนราชการต่างๆให้ช่วยขับเคลื่อนงานสาธารณสุข

ขณะที่ เสกสรร อุผา นายก อบต.บ้านเอื้อง กล่าวว่า อบต. ให้ความสำคัญด้านสุขภาพร่างกายของพี่น้องในชุมชน ทั้งผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และจะเข้าร่วมขับเคลื่อนในทุกกิจกรรม หากชุมชนดูแล รพ.สต. รพ.สต.ก็จะดูแลชุมชน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังนั้นภาพรวมกิจกรรมทั้ง 2 หน่วยงานนี้จะร่วมกันตลอด อบต.มีงาน รพ.สต.ก็ไปร่วม รพ.สต.จัดกิจกรรม ทางอบต.ก็จะเข้ามาร่วม

ทั้งนี้ บทบาทของอบต.จะสนับสนุนเรื่องเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้รพ.สต. บริหารโครงการอย่างน้อย 6 โครงการในส่วนที่ รพ.สต.จัดอบรมชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนบทบาทการทำให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของ รพ.สต. โดยแสดงออกในรูปแบบการทำงานเป็นทีม ทั้งอบต. รพ.สต. อสม. ผู้นำชุมชน ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการทำงานเป็นทีม เมื่อผู้นำชุมชนทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือโดยปริยาย

ทั้งนี้ สสอ.ศรีสงคราม ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการใช้เกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว 5 ดาว 5 ดีทั่วประเทศ การพัฒนาไปในทิศทางนี้ รพ.สต.จะมีมาตรฐานตาม Service Excellence ได้ทันที อย่างไรก็ดี จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ยังมีปัญหาในประเด็นเรื่องงบประมาณ ที่พบคือของความสอดคล้องกับงบประมาณที่กระทรวงกำหนดให้ใช้ บางอย่างก็ไม่สามารถใช้ได้ เช่น งบค่าบริการทางการแพทย์หรืองบการลงทุนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กำหนดให้ จะเห็นว่ามีเงื่อนไขมีหลักการที่ต่างจากเดิม ถ้าในกรณีที่จะจัดซื้อของต้องเป็นการซื้อเพื่อทดแทน ถ้าจะสร้างก็ต้องสร้างเพื่อปรับปรุงเท่านั้น ฉะนั้นนี่เป็นข้อจำกัด ต้องการบริหารจัดการโดยใช้เงินบำรุงที่มีอยู่ หรือรับบริจาคจากประชาชน หรือรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง