ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิดชู ศ.นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผอ.รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2560 อุทิศตนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานวิจัยโรคมาลาเรีย พบว่าในผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน (jaundice) มักพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอื่นๆ โดยเฉพาะผลการวิจัยโรคแทรกซ้อนในมาลาเรียชนิดรุนแรง ศึกษาค้นคว้าสูตรยารักษามาลาเรียหลายสูตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดการดื้อยา อันเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในประเทศไทยและทั่วโลก

.นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครบรอบ 75 ปี พ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2560 ว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คัดเลือกผู้สร้างหรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ

และผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2560 คือ .นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งท่านเป็นผู้อุทิศตนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานวิจัยโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะผลการวิจัยโรคแทรกซ้อนในมาลาเรียชนิดรุนแรง และการพัฒนายาสูตรผสมที่มีผลต่อการรักษาและการป้องกัน อันเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในประเทศไทยและทั่วโลก

ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลงานเด่นของ ศ.นพ.พลรัตน์ เป็นผลงานการวิจัยเรื่องโรคมาลาเรีย ซึ่งท่านได้ทุ่มเททำงานด้านการวิจัยตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี ได้ศึกษาวิจัยโรคมาลาเรีย ทั้งทางด้านพยาธิกำเนิด พยาธิสภาพ พยาธิสรีรวิทยาของโรคมาลาเรีย ตลอดจนการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียที่ดื้อยา อาทิ ได้ศึกษาพบว่าในผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน (jaundice) มักพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอื่นๆ เช่น ไตวาย น้ำท่วมปอด ช็อก ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน จะต้องหาว่ามีภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอย่างอื่นร่วมด้วยเสมอ ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกถือว่าการพบดีซ่าน (ร่วมกับภาวะแทรกซ้อนมาลาเรียอื่นๆ) เป็นเกณฑ์อันหนึ่งของมาลาเรียรุนแรง

ศึกษาค้นคว้าสูตรยารักษามาลาเรียหลายสูตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดการดื้อยา ได้รายงานประสิทธิภาพที่ดียิ่งของยาอาทีซูเนท (artesunate) ร่วมกับยาเมโฟลควิน (mefloquine) ในการรักษาผู้ป่วยฟัลซิปารัมมาลาเรียอันเป็นรายงานแรกของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ป่วยมาลาเรีย และผู้ป่วยมาลาเรียที่เสียชีวิตทั่วโลกและในประเทศไทยลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด และสามารถป้องกันการดื้อยาได้ดี

นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนายารักษาโรคมาลาเรียรุนแรง ตลอดจนร่วมจัดทำหนังสือวิชาการแนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรีย ในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยนิพนธ์ร่วมกับสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนังสือเล่มนี้สำหรับแพทย์และอายุรแพทย์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาลาเรียทั่วประเทศไทย

“เป็นที่ประจักษ์ว่า ผลการศึกษาวิจัยของ ศ.นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ และคณะ มีผลต่อความเข้าใจโรคมาลาเรียรุนแรงและไม่รุนแรงมากขึ้น ตลอดจนมีผลต่อการรักษาและการควบคุมการระบาดของมาลาเรียทั่วโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากมาลาเรียลงได้มาก เป็นคุณูปการแก่วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขของโลกและของประเทศไทยอย่างยิ่ง” นพ.สถาพร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง