ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.ยันไม่มีส่วนร่วมกับกรณีที่ รพ.เอกชนบางแห่งจ่ายคูปองน้ำมันให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพนำผู้ป่วยส่ง รพ.ของตนเอง พร้อมเตรียมตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมแจงระบบการทำงานสายด่วน 1669 จะนำส่งผู้ป่วยวิกฤตไปยัง รพ.ที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย วอน รพ.เอกชนให้หยุดการกระทำดังกล่าวเพราะส่งผลเสียต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อข้อมูลกรณีของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้แจกคูปองน้ำมันให้กับมูลนิธิที่นำผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทุกกรณีมาส่งยังโรงพยาบาลแห่งนั้นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สพฉ.ได้รับทราบข่าวแล้ว โดยในคูปองที่มีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์นั้นได้มีการใส่โลโก้และตัวการ์ตูนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเข้าไปด้วย ตนขอชี้แจงว่า สพฉ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกคูปองดังกล่าว การที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้นำโลโก้และตัวการ์ตูนของ สพฉ.ไปพิมพ์บนคูปองนั้นเป็นการเข้าข่ายการแอบอ้างที่ส่งผลเสียต่อ สพฉ. ซึ่งฝ่ายกฎหมายของเราจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการแอบอ้างแบบนี้อีก

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานผ่านระบบของสายด่วน 1669 มีมาตรฐานรองรับการทำงานที่เป็นระบบ โดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.นั้นผ่านการฝึกฝนที่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะวิธีในการคัดแยกผู้ป่วย และหากพบว่าเป็นเป็นผู้ป่วยฉุกวิกฤต เจ้าหน้าที่จะนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่ที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.จะไม่มีใครนำผู้ป่วยไปส่งให้กับโรงพยาบาลที่จ่ายอามิสสินจ้างในลักษณะดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ในส่วนที่ สพฉ.มีหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าเคสให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติงานในแต่ละครั้งนั้น เป็นเงินที่มาจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอุดหนุนชดเชยการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน โดยการจ่ายก็จะเป็นไปตามระเบียบและมีมาตรฐาน ไม่ได้นั่งโต๊ะแจกจ่ายให้กู้ชีพทั้งหมด แต่จ่ายให้กับหน่วยแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลของ สพฉ.

ซึ่งหลักเกณฑ์คู่มือแนวทางการจ่ายเงินกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อสนับสนุน อุดหนุนหรือชดเชยการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะมีการจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ 100-1,000 บาทให้กับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยและชุดปฏิบัติการฉุกเฉินว่าเป็นระดับสูง กลาง ต้น หรือเบื้องต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้เมื่อเทียบกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่อยู่ในระบบของ 1669 ได้ทำงานด้วยใจและด้วยความมุ่งมั่นโดยไม่หวังผลตอบแทนแล้วสิ่งนั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก

“ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในระบบสายด่วน 1669 สามารถให้บริการประชาชนด้วยระบบที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เราจะรีบทำการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนและอยากขอร้องโรงพยาบาลเอกชนที่มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวนี้เพราะจะส่งผลต่อโอกาสที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาที่เป็นธรรมและทันท่วงทีด้วย” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว