ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานมูลนิธิทันตแพทย์เอกชน หวั่น รพ.รัฐ รพ.เอกชน คลินิกทั่วประเทศวุ่น หลัง ปส.ยื้อออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ กม.พลังงานนิวเคลียร์ กระทบต่อใบอนุญาตสถานพยาบาล ซ้ำดึงดันเดินหน้าส่งหนังสือเรียกทันตแพทย์ขึ้นทะเบียน RSO ต่อ ไม่ฟังเสียง รมว.วท. สภาวิชาชีพ และ กมธ.สาธารณสุข สนช. เชื่อสาเหตุเกิดจากอคติส่วนตัวหลายกรณี เช่น การจัดอบรม RSO

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ประธานมูลนิธิทันตแพทย์เอกชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการหารือถึงผลกระทบการบังคับใช้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559  โดย รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมด รวมถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีความเห็นตรงกันให้ยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์หรือเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับกฎหมายนี้ และให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้น 

แต่ปรากฎว่านอกจากจะยังไม่มีการออกประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งตามกำหนดต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. แล้ว ปส.ยังมีหนังสือส่งไปยังทันตแพทยสมาคมและคลินิกทันตกรรมเพื่อขอให้ขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ตามกฎหมายนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถต่อทะเบียนคลินิกหรือสถานพยาบาลของตนได้  

จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างไม่เข้าใจ รวมถึงทันตแพทย์ทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อทุกฝ่ายต่างตกลงและได้เห็นตรงกันแล้ว ทำไม ปส.ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับนโยบายจากรัฐมนตรี นอกจากไม่ดำเนินการตามแล้วยังดึงดันเดินหน้าต่อ เป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องนี้น่าจะเกิดจากอคติ จากกรณีที่มีสมาคมหนึ่งใน ปส.ดำเนินการเพื่อจัดอบรม RSO ซึ่งมีการจัดเก็บค่าอบรมกว่า 3,000 บาทต่อคน จนกระทั่งต่อมามีการเปิดเผยข้อมูลนี้และทำให้สมาคมนี้ต้องออกจาก ปส.ในที่สุด   

ทพ.ศุภผล กล่าวว่า สำหรับเครื่องเอกซเรย์และเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือสากลล้วนเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ มีความปลอดภัยในการใช้งาน และเป็นประโยชน์ด้านการแพทย์ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายเหมือนเครื่องรังสีปรมาณูอย่างที่ ปส.พยายามบอกต่อสังคม อีกทั้งเครื่องเอกซเรย์ก่อนนำมาติดตั้ง ปกติจะมีขั้นตอนการตรวจสอบโดยละเอียด ทั้งยังอยู่ภายใต้ควบคุม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้นแม้ว่าเครื่องเอกซเรย์ฯ จะไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ที่ผ่านมาก็มีการควบคุมกันอยู่แล้ว โดยยึดหลักความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยมีการนำเครื่องเอกซเรย์มาใช้ในงานทันตกรรมร่วม 60 ปีแล้ว ไม่รวมถึงงานด้านการรักษาทางการแพทย์อื่นๆ ที่นำมาใช้ก่อนหน้านี้

ทพ.ศุภผล กล่าวว่า ผลจากการยื้อการออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ในกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทำให้มีสถานพยาบาลที่ต้องต่อทะเบียนใบอนุญาตสถานประกอบการยังไม่สามารถต่ออายุได้เนื่องจากต้องรอดูว่า ปส.จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งหากไม่ดำเนินการโดยเร็วเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายไปหมดได้ เพราะจะมีสถานพยาบาลทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งคลินิกเอกชนซึ่งมีจำนวนกว่า 4,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งคลินิกสัตวแพทย์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการวางเฉยของ ปส.ไม่ยอมฟังเสียงวิชาชีพหรือแม้แต่ รมว.วท.เอง ดังนั้น ปส.ควรจะจริงใจต่อเรื่องนี้ เร่งออกประกาศฉบับนี้โดยเร็ว

“ผมเห็นด้วยกับที่นายกทันตแพทยสภาระบุว่า ปส.ไม่จริงใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหา สะท้อนให้เห็นว่า ปส.ดึงดันแต่ความเห็นของตนแต่ฝ่ายเดียว ปากรับคำว่าจะทำ แต่กลับวางเฉยเหมือนเด็กดื้อ ขอให้ ปส.ซึ่งประกาศมาตลอดว่าเห็นประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด ได้โปรดหันมาร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่ได้คุยกันปรึกษากันจนเห็นร่วมกันทุกฝ่ายในประเด็นเรื่องเครื่องเอกซ์เรย์ทางการแพทย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ทพ.ศุภผล กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกทันตแพทยสภาโวย ปส.ไม่จริงใจ ยื้อออกกฎยกเว้นเครื่องเอกซเรย์

‘หมอเจตน์’ ชี้ ปส.ต้องเร่งออกกฎยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์