ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหรียญทุกเหรียญ มี 2 ด้านเสมอ..... ทุกอย่างในชีวิตย่อมมีทั้งด้านดี ด้านด้อย…. ในบางครั้ง เราหลงลืมไปมองบุคคล มองเหตุการณ์ ในด้านดีอย่างเดียว หรือด้านแย่ๆ อย่างเดียว ทำให้เราคิด เราประเมินสิ่งต่างๆ ผิดเพี้ยนไปนะครับ

การรักษาโรคต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกันครับ ยา ... การผ่าตัด.... แสงเลเซอร์ ล้วนแล้วแต่มีด้านดี ทำให้โรคดีขึ้น มะเร็งหายไป ผิวสวยขึ้น แต่ก็มีด้านผลข้างเคียง ได้เช่นเดียวกัน และมีเป็นเรื่องปรกติเลยทีเดียว ไม่มียาใดเลยที่จะไม่มีผลข้างเคียงเลยนะครับ มีแต่ว่ามีมาก มีน้อย ไม่มียาใดเลยที่ “ไม่แพ้ แน่นอน” แม้แต่ยาแก้แพ้ ก็ยังแพ้ได้นะครับ

สมุนไพรก็เช่นเดียวกันครับ บางครั้งเราคิดว่าสิ่งที่มาจากธรรมชาติ จะต้องปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่เมื่ออ่านใน Websites หลายๆ ที่ก็บอกว่าสมุนไพรแท้ ปลอดภัยแน่นอน ไม่มีผลข้างเคียง แต่ที่จริงแล้วมีหลายประเด็น ที่น่ารู้ และน่าสนใจครับ

หลายสิบปีก่อน คนรุ่นเก่า ๆ คงจำได้ว่ามีกรณีการใช้มะเกลือเป็นยาถ่ายพยาธิ แล้วตาบอด หรือเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็มี กรณีการใช้ใบขี้เหล็ก ชนิดบรรจุ แคปซูล เพื่อช่วยให้นอนหลับดีขึ้น แล้วเกิดตับอักเสบขึ้น ที่จริงใบขี้เหล็กนั้น เมื่อทานเป็นแกง และทานในปริมาณไม่มาก ก็ช่วยทำให้หลายๆ ท่าน หลับสบาย ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะครับ แต่พอทานในปริมาณสูง ติดต่อกันนานๆ ก็มีปัญหาได้ครับ

นอกจากเรื่องตับแล้ว ยังมีสมุนไพร รวมทั้งอาหารเสริม และ แม้แต่เครื่องเทศอีกหลายชนิด ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด แปลว่าทำให้เลือดหยุดยากขึ้น เลือดออกมากขึ้นเวลาทำผ่าตัด อย่างเช่น แปะก๊วย (ที่ทานช่วยเรื่องความจำ)  น้ำมันปลา (Fish oil) กระเทียม ขิง โสม ล้วนแล้วแต่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง   

สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่รักษาค่อนข้างยากหน่อย และเป็นโรคที่พบบ่อยมากโรคหนึ่ง ก็เป็นโรคที่ผู้ป่วยหลายๆ ท่านพยายามหาทางรักษาด้วยวิธีที่คิดว่าปลอดภัย ใช้ต่อเนื่องนานๆ ไม่เป็นไร พอเห็น โฆษณา เห็น page เห็น website ที่อ้างคนนั้น คนนี้ ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินแล้วใช้ สมุนไพร นู่นนี่นั่น แล้วหายขาดได้ ก็หลงเชื่อ เราพบอยู่เรื่อยๆ นะครับ ว่าผู้ป่วยบางท่านทานยาสมุนไพร แล้วผื่นสะเก็ดเงินเห่อ รุนแรง หรือ แพ้ยา หรือ เกิด ตับอักเสบตามมา

บทความนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนในเรื่องการการนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรค  เช่นโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้นครับ

จึงเป็นข้อเตือนใจนะครับ ว่าสมุนไพร เครื่องเทศ อาหารเสริม ไม่ใช่จะปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทานอะไรเป็นประจำต้องตรวจเลือด ดูการทำงานของตับบ้าง และ อย่าลืมแจ้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ทุกครั้งว่าทานอะไรเป็นประจำอยู่บ้างนะครับ

ผู้เขียน : ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย 

ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์