ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะเตรียมรับมือสังคมสูงวัย ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ แต่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว ทั้งเงินออม และที่อยู่อาศัย ใต้โจทย์ใหญ่ “อยากเห็นตนเองเป็นผู้สูงวัยแบบใด” ในบั้นปลายชีวิต

นิยามอย่างกว้างของคำว่า “สังคมสูงวัย” หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนของคนสูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ.2564 สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20 และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2578 ซึ่งหมายความว่า ทุกๆ ประชากร 100 คน เราจะพบจำนวนผู้สูงอายุ 30 คน พ่วงมาด้วยปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ

อย่างไรก็ตามยังพบว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมยังเข้าใจว่า การรับมือกับเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการจัดการกับเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ทำให้การแก้ปัญหาหลักมักจำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา การจัดสวัสดิการต่างๆ โดยไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับการเตรียมการตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย จัดขึ้นที่จังหวัดเลย มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์การจัดการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจังหวัดเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่จังหวัดให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานสถิติจังหวัด หน่วยงานสาธารณสุข และภาคประชาสังคม โดยมีนายคุมพล บรรเทาทุกข์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวปาถกฐาพิเศษเรื่อง ‘ผู้สูงอายุในจังหวัดเลย จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขในทศวรรษหน้า? ’ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การให้ทุกภาคส่วนระดมความคิดรังสรรค์นวัตกรรมทางสังคม สร้างตาข่ายรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่ ทำอย่างไรจะให้พวกเขายังเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเช่นเดียวกับวัยอื่นๆ โดยที่ยังมีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ  

สูงวัยอย่างมีสุข ต้องเรียนรู้ตั้งแต่หนุ่มสาว

วีรพล เจริญธรรม ที่ปรึกษาคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีกับการทำงานด้านผู้สูงอายุมานับทศวรรษ กล่าวถึงสถานการณ์ที่จังหวัดเลยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันว่า จังหวัดเลย มีจำนวนประชากรราว 6.3 แสนคน เป็นผู้สูงอายุ 1.3 หมื่นคนโดยประมาณ มีทั้งที่เป็นผู้สูงอายุติดสังคม ยังสามารถดูแลตนเองได้ ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรหลานและผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถดูแลตนเองได้

โจทย์หลักคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุทั้ง 3 กลุ่มนี้ ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้สูงอายุที่ยังเข้าสังคมได้ มีรายได้หลังวัยเกษียณ มีเงินออม ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการประกอบอาชีพเสริมต่างๆ ขณะที่กลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ก็ต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการจากรัฐในเรื่องต่างๆอย่างรอบด้าน เช่น การรับเบี้ยยังชีพ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ให้ได้รับบริการทางสุขภาพโดยตรงถึงประตูบ้าน ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาล 

นายวีรพล กล่าวว่า การแก้โจทย์ดังกล่าวนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ เรื่องทัศนคติ ต้องทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ไม่ใช่วัยเกษียณ ตัวอย่างเช่น การดำเนินงานที่ผ่านมาของจังหวัดเลย คือ การระดมความคิดจากหนุ่มสาววัยทำงานเริ่มที่อายุ 35 ปี ภายใต้โจทย์ร่วมว่า คุณอยากมีคุณภาพชีวิตอย่างไรในวัย 60 ปี  

นอกจากนี้ วีรพลยังกล่าวถึงวิธีการสร้างทัศนคติให้คนหนุ่มคนสาวหันมาสนใจเรื่องผู้สูงอายุและตระหนักถึงการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยว่า ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถาบันต่างๆ เพื่อเข้าไปจัดบรรยาย รวมถึงการเข้าไปให้ความรู้กับเยาวชนในสถานศึกษาต่าง

“เวลาโรงเรียนมีค่าย หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เราก็จะเข้าไปบรรยายเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเน้นว่า ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และต้องมีแผนการอย่างไรบ้างเพื่อให้เราไม่ลำบากในตอนแก่ และที่สำคัญยังมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจต่อผู้สูงอายุในครอบครัวของพวกเขาไปในตัวด้วย” วีรพล กล่าว

สูงวัย ไม่ใช่เรื่องของคนสูงอายุ

แสงระวี ดาปะ วัย 27 ปี หนึ่งในคนหนุ่มสาวที่ให้ความสนใจกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นกล่าวว่า สำหรับตนเองมองว่าไม่ว่าใครก็ตามจะต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แต่ที่ผ่านมาหลายคนกลับคิดว่า เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องไกลตัวทำให้ไม่ได้เตรียมการตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการสะท้อนผ่านอารมณ์และทัศนคติของผู้สูงอายุที่ตนพบจำนวนหนึ่ง พบว่าหลายคนไม่สามารถเข้ากับลูกหลานที่วัยห่างกันได้ บางคนมองว่าตนเองเป็นภาระต้องให้ลูกหลานดูแล เนื่องจากไม่มีเงินออมตั้งแต่วัยทำงาน ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นหลัก บวกกับความไม่เข้าใจของคนในครอบครัวที่มีต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการมองอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือการพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญมากกว่าเป็นอาการของช่วงวัย ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุในหลายครอบครัวมองว่าตนเองกลายเป็นคนแก่ที่ไร้คุณค่า เป็นภาระของลูกหลาน เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการไม่เตรียมความพร้อมตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะเรื่องเงินออม เราต้องคิดว่าทำอย่างไรเราจะกลายเป็นคนสูงวัยที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้กับคนทุกวัย และมีคุณค่าโดยที่ไม่ให้ตนเองรู้สึกว่าเป็นภาระให้ต้องดูแล” แสงระวีกล่าว

สอดคล้องกับ กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะสังคมสูงวัย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมเพื่อการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยในทุกๆด้าน ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยนางกรรณิการ์กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมากับเครือข่ายสังคมสูงวัยพบว่า ในหลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาการจัดการระบบรองรับผู้สูงอายุ เหตุเพราะไม่ได้เตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น เมื่อพบผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย อยู่ติดบ้านติดเตียงเพิ่มขึ้น จึงจะคิดวิธีการแก้ไขมากกว่าเตรียมการตั้งแต่พวกเขายังเป็นวัยหนุ่มสาว

สำหรับที่จังหวัดเลย แม้จะมียุทธศาสตร์การรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่ยังจำกัดวงอายุอยู่เพียง 50ปี ขึ้นไป ซึ่งตนเองมองว่าอาจไม่ทันท่วงที หากเป็นไปได้อยากให้การทำงานเป็นการยกระดับจากผู้สูงอายุไปสู่สังคมสูงวัย กล่าวคือ ไม่ได้จำกัดกรอบการทำงานเพียงแค่ผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมองทั้งระบบว่า หากตัวเองจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในอีก 20 ปี 30 ปี ข้างหน้า เขาต้องเตรียมรับอย่างไรบ้าง

กรรณิการ์กล่าวเสริมว่า สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลยที่บรรจุประเด็นเรื่องผู้สูงอายุเข้าเป็นวาระขับเคลื่อนของจังหวัดนั้น นับเป็นโอกาสอันดีที่จะชวนทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมหารือ เพื่อยกระดับยุทธศาสตร์การจัดการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุไปสู่การสร้างระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง