ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ของการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2552 มีมติให้มีการผลักดันประเด็นนโยบายสาธารณะด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การแพทย์แผนไทยยังนับว่ามีอุปสรรคปัญหาหลายประการที่ทำให้ยังไม่สามารถเป็นระบบบริการสุขภาพหลักของคนไทยในเวลานี้ได้

บทความเรื่อง สถานการณ์การใช้บริการการแพทย์แผนไทยปี พ.ศ.2552, 2554 และ 2556 โดย รัชนี จันทร์เกษและคณะ เผยแพร่ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุขฉบับเมษายน-มิถุนายน 2559 เป็นหนึ่งในงานศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพทย์แผนไทยที่น่าสนใจ กล่าวคือ เป็นการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยในภาพรวมของประเทศจากเอกสารผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2552, 2554 และ 2556 เกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วยและการเข้ารับบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านจากการสัมภาษณ์ประชากรทั่วประเทศปีละ 28,000 ครัวเรือน

ผลการศึกษาพบว่า ประชากรไทยที่เจ็บป่วยส่วนใหญ่เลือกไปรักษาที่สถานพยาบาลภาครัฐ การไปหาหมอพื้นบ้าน/หมอแผนโบราณ หรือหมอนวดไทยมีค่อนข้างน้อย ไม่ถึงร้อยละ 2 ของประชากรที่เจ็บป่วย การรักษาด้วยยาสมุนไพรในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง โดยพบว่ากลุ่มอายุ 25-59 ปีที่เจ็บป่วยมีการใช้ยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรระหว่างร้อยละ 51.0-60.3 ของประชากรที่เจ็บป่วยทั้งหมด

ที่น่าสนใจคือโรคปวดหลังและปวดกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นกลุ่มอาการที่พบมากเป็นอันดับสอง แต่กลับมีการใช้ยาแผนโบราณหรือสมุนไพรเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 27.3 33.4 และ 31.1 ของประชากรที่ใช้ยาแผนโบราณหรือสมุนไพรในปี พ.ศ.2552, 2554 และ 2556 ตามลำดับ

ข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังเป็นทางเลือกที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคนไทย เห็นได้จากการเลือกใช้วิธีการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่การใช้ยาแผนโบราณและยาสมุนไพรยังไม่สามารถทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านยาแผนโบราณและยาสมุนไพรที่ยังขยายตัวได้ไม่มากนักแม้จะได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายค่อนข้างสูงก็ตาม ด้วยเหตุที่ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวกับสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำยังมีปัญหา

นับตั้งแต่ปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งปัญหาการขาดแคลนและปัญหาคุณภาพ โรงงานที่ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน GMP การผลิตยาสมุนไพรบางชนิดยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และแหล่งจำหน่ายยาสมุนไพรยังมีน้อย ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมีจำนวนน้อยเกินไป และไม่เพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่หลากหลาย

ที่สำคัญแพทย์แผนปัจจุบันยังขาดความเชื่อมั่นในการสั่งใช้ยาสมุนไพร อันมีผลมาจากไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือสนับสนุน ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการขับเคลื่อนเรื่องของสมุนไพรให้มุ่งไปสู่เป้าหมายต่างๆ ตามนโยบายได้

ในขณะที่การบริการโดยหมอพื้นบ้าน หมอแผนโบราณ หมอนวดแผนไทย แพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการบริการนวดไทย และทิศทางนโยบายของประเทศเอื้อต่อการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แต่ระดับปฏิบัติยังไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกันนโยบายได้อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรแพทย์แผนไทย และความเชื่อมั่นของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีต่อการแพทย์แผนไทย ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาด้านคุณภาพและมาตรฐานการบริการการแพทย์แผนไทย ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้แพทย์แผนไทยและการให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยในสื่อสังคมยังกระจัดกระจาย มีแรงกระเพื่อมไม่มากนัก

ในท้ายสุด ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะให้จัดทำแผนงานหรือโครงการที่สอดรับกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาการแพทย์แผนไทย พัฒนาระบบการบริหารจัดการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามศักยภาพของหน่วยบริการ ตลอดจนกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนความเข้มแข็งของการบริการการแพทย์แผนไทยในชุมชนและภาคธุรกิจเอกชน

เก็บความจาก

รัชนี จันทร์เกษ และคณะ. สถานการณ์การใช้บริการการแพทย์แผนไทยปี พ.ศ.2552, 2554 และ 2556. ใน วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2559. นนทบุรี:สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2559.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง