ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จัดทำข้อเสนอเพื่อการรองรับสังคมสูงวัย เน้นเตรียมคน-สร้างระบบรองรับ ดึงแรงงานนอกระบบออมเงินตั้งแต่หนุ่มสาว สร้างหลักประกันยามชราภาพ พร้อมออกแบบสังคมให้ทุกวัยพึ่งพากัน

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมวิชาการประจำปีที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) ซึ่งมีทั้งหมด 16 องค์กร และการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” โดยในช่วงพิธีปิด นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะผู้แทนของ 16 องค์กรฯ ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขในสังคมผู้สูงวัย

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดย 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 10.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ.2564 โดยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงสังคมของคนสูงวัยเท่านั้น แต่หมายถึงสังคมที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และวัยแรงงานขาดแคลน

ต่อสถานการณ์ข้างต้น 16 องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัยของประเทศไทยใน 2 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.เตรียมความพร้อมของบุคคล และ 2.การเตรียมระบบรองรับ โดยในส่วนการเตรียมความพร้อมของบุคคล ประกอบด้วย การเตรียมด้านความรู้ และความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว รวมถึงให้เรียนรู้เรื่องการดำรงชีวิต และคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยจะกระตุ้นให้เกิดการออมให้มากขึ้น  โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ ให้เริ่มออมเงินตั้งแต่ในวัยทำงาน และจัดสรรเงินออมก่อนเป็นลำดับแรกที่เหลือจึงจัดสรรเป็นค่าใช้จ่าย 

สำหรับระบบที่จะรองรับนั้นเป็นภารกิจหลักของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติมาแล้ว แต่ต้องทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการรองรับในช่วงสูงอายุให้เข้ามาออมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยมีคนไทยเพียง 15 ล้านคนที่อยู่ในระบบการออม เมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน

นอกจากนี้รัฐต้องวางระบบการรักษาพยาบาลให้ผู้สุงอายุเข้าถึงมากขึ้น รวมถึงการปรับวิธีคิดใหม่เพื่อรองรับการเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เช่น สถานศึกษาต่างๆ ที่มีจำนวนเด็กเยาวชนเข้าเรียนน้อยลง เนื่องจากการเกิดของเด็กรุ่นใหม่ลดลง ต้องปรับโครงสร้างที่มีอยู่มารองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัยแทน 

ในส่วนของ 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะ ได้เริ่มต้นส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ในการรองรับสังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ คลังสมองที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เกษียณอายุแล้ว และมีความพร้อมที่จะนำประสบการณ์มาทำงานเพื่อส่วนรวม แต่ไม่มีผู้ดึงไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทาง สศช. ซึ่งต้องการองค์ความรู้จากผู้มีความรู้ความสามารถมาทำงานเชิงสังคมอยู่แล้ว จากนี้จะมาพิจารณาบุคคลที่อยู่ในคลังสมองเหล่านี้ให้มาทำงานร่วมกันมากขึ้น  

“16 องค์กรเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ทำงานนอกกรอบ สามารถส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยสู่สังคมสูงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงสังคมของคนสูงวัย แต่หมายถึงสังคมที่มีทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิง”

ทั้งนี้ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.เฉพาะ ทั้ง 16 องค์กรที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขของสังคมสูงวัยโดยหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ

จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา โดย 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.0 และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 โดยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20

ทั้งนี้จากข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เช่น

ข้อมูลด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคประจำตัวแต่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตประวันได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน และผู้สูงอายุวัยปลายมีอัตราการมีโรคประจำตัวสูงขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทั้งนี้มีคนไทยเพียง 15 ล้านคนที่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ เมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน

ด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียว หรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อวัยสูงอายุ

สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจากหลายปัจจัย รวมถึงการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และมีเวลาในการเตรียมการน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญผลกระทบต่าง ๆ จากสังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะทั้ง 16 หน่วยงาน ต่างมีความสามารถและแนวทางการดำเนินงานตามพันธกิจที่แตกต่างกัน เช่น การจัดระบบและบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเครือข่าย การพัฒนามาตรฐาน การสื่อสารสังคม เป็นต้น จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะร่วมกันสนับสนุน สร้างเสริม พัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย การเตรียมความพร้อมประชากรเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมภายใต้ภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในวาระเร่งด่วนและสำคัญ ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดย

1.1 ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ และประชาชนทุกช่วงวัยให้มีความรู้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต และมีทัศนคติที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุที่ยังคงเป็นพลังและหลักชัยของสังคม

1.2 ส่งเสริมการออมที่เหมาะสมกับช่วงวัยต่าง ๆ  เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันทางรายได้ที่มั่นคงเมื่อยามสูงวัย รวมถึงส่งเสริมการสร้างหลักประกันทางรายได้ที่มิใช่เงินออม เช่น การปลูกต้นไม้ไว้เป็นบำนาญยามเกษียณ เป็นต้น

1.3 ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เยาวชน และวัยทำงาน    

1.4 ส่งเสริมการวางแผนชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างเหมาะสม  เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

2. การพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้มีประสิทธิภาพ

2.1 จัดให้มีระบบและการเข้าถึงบริการสุขภาพ บริการสาธารณะ และสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผู้สูงอายุตามมาตรฐาน และสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน

2.2 ส่งเสริมสนับสนุนระบบการออมเพื่อยามเกษียณทั้งภาคสมัครใจ และภาคบังคับ รวมถึงการบูรณาการระบบที่เกี่ยวข้องกับการออมและการสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อยามสูงวัยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทสังคมสูงวัย

2.3 ส่งเสริมสนับสนุนระบบการเรียนรู้ตลอดช่วงอายุและรู้เท่าทันสถานการณ์ ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยการจัดการความรู้ และสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างเหมาะสม 

2.4 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกภาคส่วน และนวัตกรรมเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

2.5 สนับสนุนให้เกิดกลไกการอภิบาลระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ระหว่างหน่วยงาน