ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.นาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมืองเลย จ.เลย เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่มีทัศนคติที่ดีต่อเกณฑ์การประเมิน รพ.สต.ติดดาว และมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากในการทำงานร่วมกับเครือข่าย

ไพรัช จันทร์แสง

ไพรัช จันทร์แสง ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาโรงพยาบาลว่า ในช่วงที่เขตสุขภาพที่ 8 มีนโยบายเรื่องเกณฑ์การประเมิน รพ.สต.ติดดาว บาง รพ.สต.อาจคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นจากงานเดิม แต่ในส่วนของ รพ.สต.นาอ้อ มองว่าเป็นการพัฒนามากกว่าจะเป็นปัญหา ประกอบกับที่ผ่านมา รพ.สต.แห่งนี้เคยประเมินและประกวด รพ.สต.ดีเด่น ตลอดจนเข้ารับการประเมินหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาแล้ว ขั้นตอนการพัฒนาต่างๆ จึงดำเนินมาแบบขั้นบันได ดังนั้นเมื่อมีเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวขึ้น มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน จึงมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้พัฒนาศักยภาพตัวเองได้

“เราเห็นว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นพื้นฐานที่ทุก รพ.สต.น่าจะมีเป็นมาตรฐานขั้นต่ำอยู่แล้ว อาจจะเกินบ้าง น้อยบ้าง ตัวเครื่องมือนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่าอยู่ตรงไหน และยังขาดอะไรที่ต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิม ดังนั้นถ้าเราพัฒนามาเป็นขั้นๆ เครื่องมือนี้จะดีมากในการพัฒนาตัวเอง” ไพรัช กล่าว

ติดดาวแล้วได้อะไร

ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ ให้ความเห็นว่า การทำงานต้องถามตัวเราเองว่าทำดีที่สุดหรือยัง ยังทำดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่ นี่คือแนวคิดคนที่มีการพัฒนาคุณภาพตลอดเวลา แต่หากไม่มีทิศทางก็ไม่รู้จะพัฒนาอย่างไรถูก ดังนั้นการมีมีเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวขึ้นมา จึงเป็นธงว่าไม่ต้องไปแข่งกับใครอื่น แข่งกับเกณฑ์นี้ก็พอ บางคนถามว่าทำไมต้องรับภาระเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ เกณฑ์ประเมินต่างๆ ที่กำหนดมา ก็เป็นงานที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มีธงว่าจะไปทางไหน ทำให้การพัฒนาง่ายขึ้น

ทั้งนี้ รพ.สต.นาอ้อ เมื่อเริ่มเดินหน้าสู่การเป็น รพ.สต.ติดดาว ก็ทำให้มีกลุ่มพี่เลี้ยงเกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งจากโรงพยาบาลแม่ข่าย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เช่น กลุ่มพี่เลี้ยงนักวิชาการ กลุ่มพี่เลี้ยง IC ห้องแล็ป กลุ่มพี่เลี้ยงเภสัช หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีเวทีคุยกันทุกเดือนจากเดิมที่ไม่มีกิจกรรมก็จะไม่ได้คุยกันเลย หรือแม้แต่ใน รพ.สต.เอง ก็จะจัดโต๊ะไว้มุมหนึ่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่นั่งคุยกันระหว่างพักเบรกจากการดูแลคนไข้ เป็นการสร้างบรรยากาศให้สะดวกให้พูดคุยกันง่ายขึ้น การมีเวทีลักษณะนี้เป็นการให้กำลังใจกัน เมื่อสะท้อนปัญหาอะไรออกไป ก็จะมีทีมพี่เลี้ยงคอยรับประเด็นและลงมาติดตามให้กำลังใจ

“มันเป็นการติดตามที่ดีกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนถ้ามีมาติดตามประเมินเนี่ย เครียดมาก เหมือนมาตรวจ อันนี้ทำหรือยัง อันนั้นทำหรือยัง แต่ตอนนี้คือมาช่วยเหลือ คำถามมันเปลี่ยนไปหมด น้องมีอะไรที่พี่จะช่วยอะไรได้บ้าง ก็จะมาช่วยกันแบบนี้ เป็นการเยี่ยมและให้กำลังใจกัน และเวลาเราไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่ายในตำบล เราก็ถอดแบบจากพี่ๆ นั่นแหละในการเยี่ยมติดตาม ซักถามปัญหา เราเรียกกระบวนการนี้ว่าการเยี่ยมแบบเสริมพลังกัน” ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ กล่าว

ไพรัช กล่าวต่อไปว่า การมีพี่เลี้ยงและการมีเวทีพูดคุยกัน ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นงาน IC ก็จะมีพี่จากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาคอยดูแล เวลามาตรวจเยี่ยม รพ.สต. พี่เลี้ยงบอกว่าต้องมีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เมื่อน้องชี้แจงบริบทหรือข้อจำกัด พี่ๆ ก็ต้องรับโจทย์ไปทันที หรืองานเภสัช ยาต้องมีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล พี่เลี้ยงมาตรวจ บอกว่าต้องมีอย่างนี้ๆ สุดท้ายก็มีการเติมเครื่องมือ เครื่องวัดอุณหภูมิ วัดความชื้น สต๊อกยา การวัดวันหมดอายุ จนได้มาตรฐานที่เทียบเคียงใกล้กับโรงพยาบาลตามหลักการจริงๆ ทำให้เกิดความภูมิใจ อยากนำเสนอให้คนไข้ฟังว่ายาของ รพ.สต.มีการตรวจสอบในระดับเดียวกับโรงพยาบาล หรืองานแล็บ ก็ดีกว่าโรงพยาบาลเพราะไม่ต้องรอคิวนาน

“เรื่องระบบการหมุนเวียนชุดอุปกรณ์เครื่องมือปราศจากเชื้อ (Set) เมื่อก่อนส่งไปนึ่งกลับมาก็ไม่รู้ว่าแพ็คดีขนาดไหน พี่เลี้ยงมาดูก็ชี้ให้ดูว่าแบบนี้ไม่ได้นะ ต้องทำอย่างนี้ๆ ก็ทำให้เครื่องมือใน รพ.สต.ดีมากขึ้น เราหมุนเวียนไปนึ่งที่โรงพยาบาลเลย กลายเป็นว่า cup ต้องไปอำนวยความสะดวกเรื่องโลจิสติกส์ให้กับเรา หรือเรื่องยา เมื่อก่อนกว่าจะได้ยาต้องเบิกล่วงหน้า 1 เดือน เอามาสต๊อก 3 เดือน พอขนมาก็มาทะลักที่คลังยา รพ.สต. ปัจจุบันนี้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงก็เบิกได้ เรื่องคลังยาเรามั่นใจว่าไม่มียาหมดอายุ เพราะยาสต๊อกไว้ 2 อาทิตย์ ปัญหายาค้างสต๊อกหายไปหมดเลย” ไพรัช กล่าว

ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ ย้ำว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นผลจากกระบวนการประเมิน รพ.สต.ติดดาวและต่อยอดไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าเกณฑ์การประเมินนี้ ไม่ใช่การตรวจสอบแต่เป็นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานตัวเราเอง และทำให้สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า รพ.สต.ของเรามีคุณภาพ

ชุมชนเข้มแข็ง ภาคีเครือข่ายหลากหลาย

ในส่วนของการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ กล่าวว่า พื้นที่นี้จะมีลักษณะพิเศษกว่า รพ.สต.อื่นๆ เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นตำบลสุขภาวะ จึงมีกระบวนการทางสังคมที่ค่อนข้างดี มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ถึง 27 กลุ่ม รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการพัฒนาเทศบาล ซึ่งเป็นเวทีที่ทุกเครือข่ายเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนกัน โดยจะจัดประชุมเดือนละครั้ง จะมีการพูดคุยติดตามงานเดิม การเสนองานใหม่ และการส่งมอบภารกิจบทบาทระหว่างกัน และเมื่อประชุมกันเสร็จก็จะประกาศเสียงตามสาย ชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในคณะอนุกรรมการก็จะรับรู้ร่วมกันหมด

“มีคนถามว่าทำไมเราทำได้ดีขนาดนี้ คือกระบวนการทางสังคมที่นี่ค่อนข้างดี มีกลุ่มมีองค์กรที่ขับเคลื่อนกันจริงๆ จังๆ อยู่แล้ว ชุมชนที่นี่เข้มแข็งมาก เวลามีกิจกรรม เราต้องมีเวทีให้แต่ละกลุ่มโชว์ผลงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้พิการ ผลิตดอกไม้ ถักทอเสื้อผ้า จักสาน กลุ่มแอโรบิค ฯลฯ ซึ่งที่นี่ตอบโจทย์ได้ค่อนข้างชัด อย่าง รพ.สต.เวลาจัดงาน ก็มีกลุ่มมีแสดงผลงาน เช่น กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ฯลฯ ถ้าไม่เชิญนี่มีงอน ดังนั้นเวทีในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลมันจึงเป็นเวทีเชิงบูรณาการ จะไม่มีเจ้าภาพหลักๆ ถ้าเทศบาลเป็นคนจัด ภาคีอื่นๆ ก็จะเข้ามาช่วยตลอดเพราะเป็นทีมเดียวกันตั้งแต่แรก งานเขางานเราคือตำบลเดียวกันหมด การเข้าไปช่วยงานก็เปิดช่องให้แต่ละภาคีได้คุยประเด็นอื่นๆ ด้วย มันจึงเหมือนเราคุยเรื่องเดียวกันไปตลอดเวลา นี่คือลักษณะการมีส่วนร่วมในชุมชนของเราที่ค่อนข้างบูรณาการ” ไพรัช กล่าว

ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ กล่าวอีกว่า หากถามว่าภาคีเครือข่ายมาช่วยเรื่อง รพ.สต.ติดดาวอย่างไร ก็ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรเหมือนกัน เนื่องจากทำงานร่วมกันมาเรื่อยๆ จนเป็นเนื้อเดียวกัน ภาคีเครือข่ายค่อนข้างรู้กระบวนการในการคิดแผนงานแก้ปัญหาต่างๆ ว่าจะมาร่วมกันได้ในจุดไหนบ้าง หรือถ้าจะให้ชัดขึ้นก็คือการค้นหาประเด็นปัญหาที่จะพัฒนาร่วมกัน ภาคีเครือข่าย ผู้นำชุมชนจะเอาข้อมูลสถิติต่างๆ จาก รพ.สต. และจากข้อมูลของแต่ละกลุ่ม ไปวิเคราะห์และจัดทำโครงการเสนอเทศบาลและกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อของบประมาณ ซึ่งแต่ละโครงการต้องยึดมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเทศบาลเป็นหลัก ไม่ใช่ใครอยากทำอะไรก็ไปขอหมด

“ที่นี่จะต่างจากที่อื่น ถ้าเอาโมเดลนี้ไปพัฒนาที่อื่นมันจะหืดขึ้นคอ เพราะที่นี่พัฒนาร่วมกันมาเรื่อยๆ เป็นสิบปี กว่าจะสร้างความร่วมมือเครือข่ายขนาดนี้ได้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องทำมานานและต่อเนื่อง ต้องเน้นคำว่าต่อเนื่อง ต้นทุนทางสังคมต้องมีพอบางคนมาดูงาน ถามว่าพี่ทำแบบนี้ได้อย่างไร ผมตอบไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่ากระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นเป็นรูปร่างตั้งแต่เมื่อไหร่ คือทุกฝ่ายมีใจให้กัน แล้วก็ทำกันมาเรื่อยๆ ทั้งท้องถิ่น ทั้งภาคี ทั้งชุมชน มันมาด้วยกันหมด ซึ่งถ้ามีปัญหาเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมันจะเกิดตรงนี้ไม่ได้เลย” ไพรัช กล่าว

ข้อแนะนำถึงพื้นที่อื่นๆ

ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาอ้อ ให้ข้อแนะนำถึง รพ.สต.อื่นๆ ในการพัฒนาสู่การเป็น รพ.สต.ติดดาวไว้ 3 ประเด็น

1.ทัศนคติการทำงานอย่างทุ่มเทเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งทัศนคติที่มีต่อชุมชน ความเป็นกันเองกับชุมชน เริ่มตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องเก่งคน ถ้าไปตีหน้ายักษ์ใส่ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้าหา แต่ถ้าทำงานเข้ากับชุมชนได้ งานก็จะเดิน

2.ควรพิจารณาศักยภาพในพื้นที่ของตนเอง ว่ามีทุนทางสังคมอย่างไรบ้าง ต้องมองให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ ทาง รพ.สต.จะเข้าไปสนับสนุนอะไรได้บ้าง ต้องมองให้เห็นและพัฒนาให้ถูกจุด เช่น ถ้ากลุ่มเครือข่ายมีกิจกรรม รพ.สต.อาจเข้าไปช่วยในส่วนของวิชาการ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ทางเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็จะเข้าไปให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพ เป็นต้น

และ 3.มีผลงานต้องโชว์ มีงานต้องเชิญ เวลามีเวทีหรือกิจกรรม อย่าลืมภาคีเครือข่ายเด็ดขาด ต้องเชิญให้เอาผลงานหรือเอากิจกรรมที่เครือข่ายทำไปโชว์ ให้คนอื่นๆ ได้ชื่นชมกันด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง