ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มข.พัฒนาแอปพลิเคชั่นดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง “CKD รักษ์ไต” ทั้งล้างไต ฟอกไต รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานความดันที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ติดตามผู้ป่วย Real Time ครั้งแรกของประเทศ เน้นระบบป้องกันรักษาความลับผู้ป่วย ช่วยลดภาระงานแพทย์และพยาบาลได้ พร้อมเปิดโหมดสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อประเมินความเสี่ยงสู่การป้องกัน ได้รางวัลที่ 3 จากการประกวด โครงการ “Hackathon” ความร่วมมือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด MIT และ มข. 

(ขวาสุด) รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ

รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (ธรรมศักดิ์) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานมหกรรมสุขภาพวันไตโลก ประจำปี 2560 ซึ่งจัดขึ้นที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “CKD รักษ์ไต” อย่างเป็นทางการ โดยเป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นแอปพลิเคชั่นแรกในประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลของผู้ป่วยกับพยาบาลผู้ดูแลโดยตรง

ที่มาของการพัฒนาเกิดจาก “50 ปี มข.คืนสู่สังคม” ที่ได้พัฒนาระบบดูแลกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี จนมีการต่อยอดร่วมกับกรมการแพทย์พัฒนาเป็นระบบ Thai Care Cloud ฐานข้อมูลสุขภาพและบริการทางการแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อมา มข.เห็นว่าน่าจะมีการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาเพิ่มเติม ซึ่งโรคไตเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาขณะนี้

ดังนั้นจึงได้มีการรวมกลุ่มแพทย์เชี่ยวชาญโรคไต นำโดย รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย ในการทำงานร่วมกับศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติฯ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง เน้นสิ่งที่ยังไม่เคยทำมาก่อน จึงมองไปยังกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องที่ต้องล้างไตเองที่บ้าน มีประมาณ 2 หมื่นคนทั่วประเทศ แพทย์จะนัดติดตามรักษาหนึ่งถึงสองเดือนครั้ง ในระหว่างนั้นหากมีปัญหาหรือมีภาวะแทรกซ้อนกว่าจะรับทราบก็สายเกินไป ขณะที่พยาบาลหนึ่งคนต้องติดตามดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวนมาก บางแห่งต้องดูแลผู้ป่วยถึง 600 คน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง จึงน่าจะมีระบบแบบ Real Time ให้พยาบาลติดตามผู้ป่วยผ่านทางหน้าจอได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเป็นผู้กรอกข้อมูล เพื่อที่จะประสานกับแพทย์ทันทีเมื่อเกิดปัญหากับผู้ป่วย จึงเป็นที่มาแอป CKD รักษ์ไต นี้

“การจัดทำแอปพลิเคชั่นนี้มีความยากมาก เพราะมีเรื่องการรักษาความลับผู้ป่วยที่ต้องปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันยังต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ป่วยบางส่วนที่มีอยู่แล้วใน รพ. การทำระบบดูแลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ การเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและระบบ Thai Care Cloud โดยการใช้งานพยาบาลจะเป็นผู้ตั้งโมบาย App ให้กับผู้ป่วย พร้อมชื่อและรหัสการเข้าระบบที่รู้ระหว่างพยาบาลและผู้ป่วยเท่านั้น และสอนวิธีการกรอกข้อมูลต่างๆ ในการล้างไตเพื่อนำเข้าสู่ระบบเพื่อใช้ในการติดตามผู้ป่วย”  

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว แอป CKD รักษ์ไตไม่ได้มีโหมดเฉพาะผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเท่านั้น แต่ยังมีโหมดสำหรับการติดตามผู้ป่วยฟอกไตด้วยเครื่อง แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมารับการฟอกเลือดที่ รพ. 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในช่วงระยะเวลา 2-3 วันนั้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาได้ จำเป็นต้องมีการติดตามดูแลเช่นกัน โหมดผู้ป่วยกลุ่มเบาหวานและความดันที่มีภาวะเสี่ยงไตวายเรื้อรัง ซึ่งคาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 70,000คน และโหมดที่เปิดสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตวายเรื้อรังเพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักและป้องกัน

“แอปพลิเคชั่นนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงแต่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระแพทย์และพยาบาลในการติดตามดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทั้งยังเป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการติดตามการจัดส่งน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง กระทรวงสาธารณสุขในด้านการจัดระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังนำไปสู่การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนาการรักษาและดูแลผู้ป่วยต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตยังอาจนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์แอป CKD รักษ์ไต นี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศ” ผู้อำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ กล่าว

สำหรับแอป CKD รักษ์ไต ยังได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดโครงการ “Hackathon” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ทส์ (MIT) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว เนื่องจากแอป CKD รักษ์ไตได้เปิดตัวช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ยังมีผู้ลงทะเบียนไม่มาก แต่จากการนำร่องในกลุ่มแพทย์และพยาบาลใน รพ.พื้นที่เขต 7 ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ รพ.ศรีนครินทร์, รพ.ขอนแก่น, รพ.ร้อยเอ็ด และ รพ.อุดรธานี (เขต 8) เป็นต้น ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างมากเนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยได้จริง