ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบให้ทุก รพ.รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชม. เก็บเงินตามบัญชีค่าใช้จ่ายที่กำหนด หากมีสิทธิตาม กม.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ กม.ว่าด้วยการประกันชีวิตให้ใช้สิทธินั้นก่อน หลังจากนั้นส่งต่อ รพ.ตามสิทธิที่ผู้ป่วยมีอยู่ เตรียมแถลง 31 มี.ค.นี้รับช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนี้

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน และให้สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ และให้สถานพยาบาลภาครัฐรับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหลังเวลา 72 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

2. ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานของรัฐ และกองทุนต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ และค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ สธ.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบของหน่วยงาน/กองทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้รองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ได้ โดยเร็วต่อไป

3. หากมีการทบทวนปรับปรุงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่าย ตามข้อ 12 ของหลักเกณฑ์ฯ ให้ สธ.นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 36 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ต่อไป

4. ในส่วนที่ขอความเห็นชอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล และกำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่แจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล ตามกฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว

2. กำหนดให้ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สพฉ.) เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

3. กำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จนพ้นภาวะวิกฤต รวมถึงการจัดให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปยังสถานพยาบาลอื่น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือญาติมีความประสงค์

4. กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจนถึงเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งสถานพยาบาลจะได้รับให้เป็นไปตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเวลา 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บไปที่กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5. กำหนดให้ สปสช. มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและสรุปค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน และให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จ่ายค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ สปสช.แจ้งผลการตรวจสอบและสรุปค่าใช้จ่าย

6. กำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลจะได้รับ ในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังสถานพยาบาลแห่งที่สอง ภายในเวลาก่อนครบ 72 ชั่วโมง นับแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลแห่งที่หนึ่ง                   

7. กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถย้ายสถานพยาบาลได้แต่ปฏิเสธไม่ขอย้าย

8. ในกรณีมีความจำเป็น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานพยาบาล ดำเนินการทบทวนปรับปรุงบัญชีและอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้ ภายใน 3 ปีหรือตามที่คณะกรรมการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเห็นสมควร เพื่อให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 12 หมวดสรุปสาระสำคัญดังนี้

หมวด

รายการ

รายละเอียด/ตัวอย่าง

1

ค่าห้องและค่าอาหาร

เช่น ค่าเตียงสามัญ เบิกได้ไม่เกิน 100 บาท

ค่าหอผู้ป่วยวิกฤต

 

2

ค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์บำบัดโรค

เช่น เยื่อหุ้มสมองเทียม แผ่นละ 9,000 บาท

ลิ้นหัวใจเทียมชนิดลูกบอล อันละ 29,000 บาท ชุดสายยางและปอดเทียมชุดละ 80,000 บาท

3

ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด

 

กำหนดเป็นราคาแยกรายตัวยา ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยที่อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ สธ. และราคายาของกรมบัญชีกลาง

4

ค่าเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา

5

ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบ

ของโลหิต

หมายถึง ค่าจัดการบริการให้โลหิตหรือส่วนประกอบของโลหิตโดยรวมค่าอุปกรณ์บรรจุ น้ำยาที่ใช้การเตรียมการตรวจทางเทคนิค

6

ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์

เช่น ค่าตรวจน้ำตาลในเลือด ค่าตรวจปัสสวะ โดยรวมค่าน้ำยาและวัสดุสิ้นเปลือง ค่าอุปกรณ์

7

ค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาทาง

รังสีวิทยา

เช่น ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ แผ่นละ 300 บาท

อัลตราซาวด์ครั้งละ 1,150 บาท MRI สมอง ครั้งละ 8,000 บาท

8

ค่าตรวจวินิจฉัยโดยวิธีพิเศษอื่น ๆ

เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้านแบบสามมิติ ครั้งละ 3,600 บาท

9

ค่าทำหัตถการ

เช่น ห้องผ่าตัดใหญ่ ชั่วโมงละ 2,400 บาท

10

ค่าบริการวิสัญญี

หมายถึง ค่าบริการระงับความรู้สึกเจ็บปวด

ของคนไข้ก่อนผ่าตัด

11

ค่าบริการวิชาชีพ

เช่น ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการเภสัชกร

ค่าบริการพยาบาล

12

ค่าบริการอื่น ๆ

ได้แก่ ค่าบริการรถฉุกเฉิน ครั้งละ 700 บาท

ค่าน้ำมันรถ 4 บาท/กม.

ทั้งนี้ เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอโดยที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติในหลักการว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน จากนั้นจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมีอยู่ ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯหรือแม้แต่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม พร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด

นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการนำระเบียบดังกล่าวไปปรับแก้อีกเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป และจะมีการจัดแถลงข่าวรายละเอียดทั้งหมด 31 มี.ค .นี้